หนาวนี้เที่ยว “สวนเฉลิมพระเกียรติราชพฤกษ์ ” ชมหอคำหลวง ศิลปกรรมแบบล้านนา

บนเนื้อที่กว่า 470 ไร่ ภายในศูนย์เกษตรหลวง ต.แม่เหี้ยะ ถูกแปลงสภาพให้เป็นอุทยานพรรณไม้ ภายใต้ชื่อ “สวนเฉลิมพระเกียรติราชพฤกษ์” ว่ากันว่าเป็นสถานที่ ที่รวบรวมพรรณไม้ในเขตร้อนชื้นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจำนวนพรรณไม้ที่นำมาจัดแสดงกว่า 2,200 ชนิด มากกว่า 2 ล้าน 5 แสนต้น

ถ้ามาเที่ยวสวนราชพฤกษ์ฯแล้วไม่ได้เข้าไปเที่ยวชม หอคำหลวง ก็นับว่ายังมาไม่ถึงสวนราชพฤกษ์ เพราะ “หอคำหลวง” ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์ของที่นี่ มีที่ผู้คนสนใจเข้าไปเที่ยวชมมากที่สุด
“หอคำหลวง” เป็นอาคารที่สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนา โดยอาศัยแนวคิดมาจากการสร้างหอคำทางภาคเหนือ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญสำหรับออกว่าราชการและใช้ในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ของเจ้าหลวงล้านนาในอดีต
หอคำหลวงเฉลิมพระเกียรติฯ ณ สวนเฉลิมพระเกียรติราชพฤกษ์ 2549 สร้างขึ้นโดยจำลองแบบของหอคำในวัดพันเตา เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติและเป็นศูนย์รวมแห่งความจงรักภักดีและความเลื่อมใสศรัทธาของคนไทยทั้งประเทศที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 หอคำหลวงเป็นอาคารครึ่งไม้ครึ่งตึก 2 ชั้น สีน้ำตาลแดง ลักษณะอาคารชั้นล่างก่ออิฐถือปูนส่วนโครงสร้างด้านบนเป็นอาคารไม้ โดยใช้ไม้สักเป็นองค์ประกอบหลักเป็นศิลปกรรมแบบล้านนา มีจุดเด่นได้แก่ วิหารซด (หลังคา) มีลักษณะบ่งบอกถึงสถานที่อันเป็นที่ประทับของเจ้าผู้ปกครองเมือง ประกอบด้วยหลังคาด้านหน้า 3 ชั้น ด้านหลัง 2 ชั้น จุดเด่นของการสร้างหอคำหลวงคือจะไม่ใช้ตะปูในการยึดติด แต่จะใช้ลิ่มสลักให้ไม้เชื่อมต่อกัน เรียกว่า “ขึ้นม้าต่างไหม”
การขึ้นม้าต่างไหมนั้น ช่างผู้ก่อสร้างจะนำท่อนไม้มาเรียงซ้อนต่อตัวกัน 3 ระดับ รูปทรงคล้ายปิรามิด แล้วจัดวางให้สมดุลกันโดยการลดหลั่นของหลังคาจากห้องประธานลงมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ปรากฏเป็นเชิงชั้นที่สวยงามมีเสาไม้ขนาดใหญ่เป็นขารองรับน้ำหนัก เรียกว่า “เสาหลวง” เป็นเสาทรงกลมทาพื้นสีดำเขียนลวดลายรดน้ำปิดทองตลอดทั้งเสานอกจากนั้นในส่วนของช่อฟ้าที่อยู่เหนือจั่วของวิหารมีรูปแกะสลักนกการเวกประดับอยู่ บริเวณหน้าบันและซุ้มประตูทางเข้ายังแกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจงตามแบบฉบับช่างสิบหมู่ของล้านนาบริเวณโดยรอบอาคารหอคำหลวงยังมีผลงานปูนปั้นปราสาทเฟื่องโคมไฟ ซึ่งหมายถึงความสว่างไสวโชติช่วง และพุ่มหม้อดอก

ซึ่งหมายถึงความจงรักภักดี รวมถึงรูปปั้นยักษ์และช้างที่ยืนเฝ้าหอคำหลวงมีหลากหลายอิริยาบถภายในหอคำหลวง มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องราวพระราชกรณียกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการเสด็จเยี่ยมราษฏรตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ทรงครองราชย์ เป็นลายลงรักปิดทองกำมะลอ ด้านในสุดของหอคำหลวงจัดแสดงประติมากรรม “ต้นบรมโพธิสมภาร” ซึ่งเป็นต้นไม้แห่งทศพิธราชธรรม ประกอบด้วยใบไม้สีทอง สีเงิน และสีนาก จำนวน 21,915 ใบ เท่ากับจำนวนวันที่ทรงครองราชย์ตลอดระยะเวลา 60 ปี โดยบนใบไม้ทุกใบมีการดุนอักษรนูนต่ำมีคำที่เป็นธรรม 10 ประการเป็นภาษาบาลี อันหมายถึงทศพิธราชธรรม
บริเวณชั้นล่างสุดของหอคำหลวง ยังเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตร รวมถึงความเป็นกษัตริย์นักพัฒนาของรัชกาลที่ 9 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับโครงการที่เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท อันได้แก่ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โครงการหลวงและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แบ่งเนื้อหาจัดแสดงออกเป็น 9 เรื่องหลักได้แก่ ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ,บทนำ ,จากจิตรลดาสู่พสกนิกร ,น้ำพระทัยอาทรชาวสยาม ,พืชผลผลิตงามด้วยดินดี ,ปลูกป่าเพื่อชีวีสำนึกดีในใจคน ,ขจัดต้นสิ่งเสพติดเพื่อชีวิตราษฏร ,เพิ่มศักยภาพเกษตรกรด้วยการศึกษา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเที่ยวชมสวนเฉลิมพระเกียรติราชพฤกษ์ฯ ต้องไม่พลาดเข้าไปเที่ยวชมสถาปัตยกรรมล้านนาที่สวยงามในหอคำหลวง
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น