ค้นหาความงามของป่าธรรมชาติดอยอิทนนท์ที่ “กิ่วแม่ปาน”

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีบริเวณพื้นที่กว่า 482 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนมีระดับความสูงของพื้นที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 400 เมตรจนถึงยอดดอยอินทนนท์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยที่ระดับ 2,565 เมตร จึงทำให้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ประกอบด้วยกลุ่มของสังคมพืชและป่าชนิดต่างๆที่มีความหลากหลายสูง ตั้งแต่ ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขาและสังคมพืชกึ่งอัลไพน์จากสภาพธรรมชาติที่มีความงดงามอุดมสมบูรณ์และหาดูได้ยากในประเทศไทย จึงทำให้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เหมาะสำหรับเป็นห้องเรียนธรรมชาติและสถานที่พักผ่อนให้ความเพลิดเพลินสำหรับนักเดินทางทุกเพศทุกวัย การเดินศึกษาธรรมชาติที่ กิ่วแม่ปาน เป็นกิจกรรมหนึ่งซึ่งอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จัดไว้สำหรับนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเรียนรู้และใกล้ชิดชื่มชมกับธรรมชาติมากขึ้นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน อยู่ระหว่างกิโลเมตรที่ 42 – 43 ของถนนขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์ ที่ระดับความสูงประมาณ 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีความยาวของเส้นทาง 3 กิโลเมตร เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานมีลักษณะเป็นวงรอบทางที่เดินลาดชันขึ้นไปทางทิศตะวันตกจนกระทั่งถึงบริเวณสันกิ่วแม่ปานและอ้อมวกลงมาทางใต้ตามสันกิ่วซึ่งเป็นทางลาดชันและวกกลับมาทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางลดชันเพื่อไปประจบกับทางเดินเข้ามาในครั้งแรก
เมื่อเดินเข้าไปในเส้นทางธรรมชาติของกิ่วแม่ปานจะสามารถพบเห็นอาณาจักรของป่าดิบเขา ซึ่งมักพบเห็นได้ที่ระดับ 2,000 เมตร สิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดป่าดิบเขาประเภทนี้ก็คือสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นและมีความชื้นสูงตลอดปี พื้นที่จะมีเมฆหมอกปกคลุมเกือบตลอดเวลา บางท่านเรียกป่าชนิดนี้ว่า “ป่าเมฆ” ตามต้นไม้ต่างๆ จึงมีพืชที่ชอบความชื้นจำพวกมอส เฟิร์น ฝอยลมและกล้วยไม้ป่าขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ไม้วงศ์ก่อและทะโล้เป็นพรรณไม้เด่นของป่าแห่งนี้ นอกจากนั้นป่าดิบเขายังมีส่วนสำคัญในการซึมซับและปลดปล่อยน้ำลงสู่ลำห้วย ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าพื้นที่ป่ามีซากพืชปกคลุมค่อนข้างหนา เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น การสลายตัวของซากพืชจึงเป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้สิ่งปกคลุมหน้าดินเปรียบเสมือนฟองน้ำที่มีรูพรุน เกิดผลต่อการดูดซับและเก็บกักน้ำไว้ในดิน นอกจากนั้นบรรดามอส เฟิร์นที่ขึ้นตามลำต้นและกิ่งก้านของต้นไม้ยังทำหน้าที่ดูดซับความชื้นที่มากับเมฆหมอกและกลั่นตัวเป็นหยดน้ำลงสู่ดินอีกทางหนึ่งด้วย
ระหว่างทางเดิน อาจจะพบเห็นลูกไม้เปลือกแข็งหลายชนิดตกเกลื่อนอยู่พื้นดิน มีทั้งที่เป็นผลกลมเล็กติดกันเป็นพวง ผลแป้นคล้ายตลับ หรือ ผลรูปร่างคล้ายหมวกเป็นต้น ผลเหล่านี้เป็นผลของไม้ก่อชนิดต่างๆซึ่งเป็นไม้ยืนต้นในกลุ่มไม้โอ๊ก ในวงศ์ Fagaceae ต้นก่อจัดว่าเป็นไม้เด่นที่ใช้ในการบ่งชี้ความเป็นสังคมพืชป่าดิบเขา ที่พบในประเทศไทยมีด้วยกัน 4 สกุล ซึ่งบริเวณกิ่วแม่ปานเป็นแหล่งที่พบไม้ก่อได้ทั้ง 4 สกุล คือ ก่อหมวก หรือ ก่อตลับในสกุล Quercus ก่อเดือย ก่อแป้น ก่อตาหมู หรือ ก่อหนาม หรือ ก่อกินลูก ในสกุล Castanopsis ก่อพวงสกุล Lithocarpus และก่อดอยช้างในสกุล Trigonobalanus ผลของไม้ก่อยังเป็นอาหารของสัตว์ป่าถัดจากป่าดิบเขาจะเป็นป่าที่มีเรือนยอดค่อนข้างแน่นทึบ แสงส่องผ่านลงมายังพื้นดินเพียงเล็กน้อยช่วยทำให้บรรยากาศของป่าดูทึมทะมึนคล้ายป่าโบราณหรือป่าดึกดำบรรพ์ สายระโยงระยางของเถาวัลย์ที่พันเกี่ยวต้นไม้น้อยใหญ่ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนย้อนเข้าไปในอดีตยุคกำเนิดของโลก เถาวัลย์เป็นไม้ที่ไม่สามารถทรงตัวได้เพียงลำพัง จึงต้องอาศัยไม้ใหญ่เป็นหลักเกาะขึ้นไปรับแสงแดดซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสังเคราะห์แสง เป็นการดำรงชีวิตในสภาวะแห่งการพึ่งพาเกื้อกูลกันระหว่างไม้ใหญ่กับเถาวัลย์
หลังจากเดินไม่นานก็หลุดออกมาเป็นทุ่งหญ้าโล่งซึ่งต่างกันโดยสิ้นเชิงกับผืนป่าก่อนหน้านั้น ทุ่งหญ้าผืนใหญ่เบื้องหน้าเป็นสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ซึ่งมักพบปกคลุมสันเขาและยอดเขาในบริเวณพื้นที่สูงกว่า 2,000 เมตร ลักษณะของพื้นที่เป็นที่โล่งดินค่อนข้างตื้นบางช่วงจะมีหินโผล่ มีหญ้าปกคลุมสลับกับไม้พุ่มและพืชล้มลุก สันนิษฐานว่าการเกิดสังคมพืชชนิดนี้เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นตลอดปีและมีการแปรปรวนของลมสูง จึงทำให้ไม้ใหญ่ของสังคมพืชป่าดิบเขาระดับสูงไม่สามารถเจริญเติบโตได้ พันธุ์ไม้ที่พบในสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ได้แก่ บัวทอง มะแหลบ ต่างไก่ป่าและกูดดอย เป็นต้น นอกจากนั้นในบริเวณนี้ยังสามารถเห็นหมูป่าและถ้าโชคดีอาจมองเห็นเลียงผาไต่อยู่บนหน้าผาก็เป็นได้
บริเวณธรณีสัณฐานกิ่วแม่ปาน เป็นจุดสูงสุดของเส้นทางเดิน ภูมิประเทศบนสันเขามีลักษณะเฉพาะตัว โดยบนสันนั้นจะแคบและมีไหล่เขาสองข้างลาดชันสูงมาก การเดินทางในช่วงนี้จึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ทางด้านขวามือจะพบเห็นต้นช้ามะยมดอยขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นกลุ่มใหญ่ ช้ามะยมดอยเป็นไม้พุ่มในวงศ์กุหลาบดอย Ericaceae มีรสอร่อย นอกจากช้ามะยมดอยแล้วยังสามารถพบไม้พุ่มและไม้ล้มลุกอีกหลายชนิดที่ออกดอกสวยงาม เช่น ต่างไก่ป่า ผักปราบดอย และกุหลาบพันปี ซึ่งจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม เป็นต้น
กุหลาบพันปี เป็นไม้ในสกุล โรโดเดนดรอน Rhododendron ในวงศ์กุหลาบดอย ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกันกับช้ามะยมดอย ไม้ประเภทนี้ชอบขึ้นในดินที่เป็นกรดและตามลาดเขาที่มีดินตื้น กุหลาบพันปีในบ้านเรายังมีอีกหลายชนิดทั้งดอกสีแดง สีขาว ทั้งที่เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กและไม้พุ่ม นิยมขึ้นในอากาศที่หนาวเย็นที่ระดับความสูง 1,800 เมตรขึ้นไป จากจุดนี้เองในวันที่ฟ้าเปิดอากาศสดใส สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ไกลถึงอำเภอแม่แจ่มในหุบเขาเบื้องล่างการเดินศึกษาธรรมชาติมีจุดมุ่งหมายให้ท่านได้เรียนรู้ เข้าใจและซาบซึ้งกับธรรมชาติถึงความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่งรอบตัวของเราที่เชื่อมโยงกันเป็นบ้านของธรรมชาติ ข้อควรระวังในการเดินศึกษาธรรมชาติกรุณาอย่าเดินออกนอกเส้นทางและอย่ารบกวนสัตว์ป่า เพราะนอกจากจะเป็นการรบกวนธรรมชาติโดยไม่จำเป็นแล้ว ท่านอาจประสบอันตรายได้การเดินที่รักษาความเงียบมากที่สุดจะทำให้ท่านมีโอกาสพบเห็นสิ่งที่น่าสนใจโดยไม่คาดฝันได้กรุณาอย่าเด็ดดอกไม้ ใบไม้หรือสิ่งใดออกจากป่า

 

เพราะท่านอาจทำลายสาพธรรมชาติอย่างรุนแรงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 2 – 3 ชั่วโมง สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าดิบเขาและทุ่งหญ้ามีความลาดชันลัดเลาะไปตามไหล่เขาการใช้เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน จะต้องได้รับอนุญาตจากอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน – ตุลาคม ของทุกปีเส้นทางฯจะปิดเพื่อปรับปรุงและให้ป่าฟื้นตัวจากการรบกวนของมนุษย์ นอกจากนั้นเส้นทางฯกิ่วแม่ปานยังสามารถรับนักท่องเที่ยวได้ไม่เกินเที่ยวละ 15 คนข้อควรระวังเนื่องจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานมีความเปราะบางสูงมากและง่ายต่อการได้รับผลกระทบจากมนุษย์จึงขอความร่วมมือในการช่วยกันทนุถนอมและดูแลพื้นที่แห่งนี้ด้วย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น