ประชาชนชาวเชียงใหม่ พร้อมใจร่วมกิจกรรมในช่วงพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยประชาชนชาวเชียงใหม่ ร่วมกิจกรรมในช่วงพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562วันนี้ (12 ธ.ค. 62) นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกรวยถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีถวายพระพรชัยมงคล กิจกรรมรับชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และการจัดนิทรรศการ ที่เกี่ยวเนื่องในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ที่อาคารศาลาไทย หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีประชาชนชาวเชียงใหม่พร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดจิตอาสาพระราชทาน เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
สำหรับหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เริ่มในเวลา 15.30 น. โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ตามริ้วขบวน มีเรือ จำนวน 52 ลำ จัดเป็น 5 สาย เรือพระที่นั่งใช้ 4 ลำใหญ่ เรือนำ คือ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นพระมงคลที่นำขบวนทุกครั้งในประเทศไทย ลำที่ 2 คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
ลำที่ 3 คือ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ตามเสด็จในขบวนพยุหยาตรา และลำที่ 4 คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง จากนั้นเป็นเรือดั้ง เรือแซง เรือรูปสัตว์ และเรือมีชื่อต่าง ๆ ทั้งหมด 52 ลำ เรียกว่าขบวนพยุหยาตราใหญ่กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นกระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ ที่เป็นราชประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเรือในกระบวนมีการสลักโขนเรือเป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย มีการจัดกระบวนหลายแบบ ที่รู้จักกันดี คือ กระบวนพยุหยาตราเพชรพวง ดังปรากฏในลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง ลิลิตพรรณนากระบวนเรือ ประพันธ์โดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อ พ.ศ. 2330 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยยึดถือตามแบบแผนเดิมสมัยอยุธยา ประเภทของการเห่เรือ จำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ การเห่เรือหลวง (การเห่เรือในงานพระราชพิธี) และการเห่เรือเล่น (การเห่เรือเล่นของชาวบ้านในงานต่าง ๆ) ในปัจจุบันการเห่เรือยังคงอยู่เฉพาะการเห่เรือหลวง ที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค โดยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคทั้งสิ้น 18 ครั้ง สำหรับรัชสมัยรัชกาลที่ 10 มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งแรก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค จากท่าวาสุกรี ไปยังท่าราชวรดิษฐ์
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น