ไปดูแรงศรัทธาของพ่อค้าไม้ชาวพม่า สร้างวัดศรีรองเมืองลำปาง

ว่ากันว่าฝรั่งอังกฤษและพวกเงี้ยวพม่าเป็นกลุ่มคนชาติแรกที่เริ่มรู้จักการทำป่าไม้ในดินแดนเอเชียอาคเนย์ เนื่องจากพม่าถูกเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษเข้าครอบงำและพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ในดินแดนล้านนาก็เป็นที่หมายปองของพม่าอันเป็นขุมทองขนาดใหญ่ แต่คนไทยเองก็ไม่มีความชำนาญในการทำไม้เท่าชาวอังกฤษและพม่ารัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการทำไม้ชาวอังกฤษให้เข้ามาทำไม้ในหัวเมืองล้านนา ชาวอังกฤษที่ได้จ้างเข้ามาชื่อนาย เอช.สเลด ซึ่งเคยทำไม้อยู่ในพม่ามาก่อน เมื่อได้รับการว่าจ้างให้เข้ามาทำไม้ในเมืองไทย
นายเอช.สเลดจึงได้นำลูกน้องชาวพม่าที่มีความชำนาญในการทำไม้และค้าไม้เข้ามาช่วยทำงานด้วย
คณะของนายเอช.สเลด เข้ามาทำไม้ที่เมืองลำปางระยะหนึ่งข่าวความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้สักในล้านนาก็แพร่สะพัดออกไป ทำให้ต่อมามีชาวพม่าเดินทางเข้ามาทำไม้ในเมืองไทยกันมากขึ้น การทำไม้ในสมัยนั้นนอกจากจะสร้างเงินทองให้กับแผ่นดินมากมายแล้วยังสร้างความร่ำรวยให้ชาวอังกฤษและพม่าที่เข้ามาทำไม้ด้วย เศรษฐีชาวพม่าเหล่านั้นส่วนใหญ่จะนับถือพุทธศาสนา จึงมีศรัทธาแรงกล้าในเรื่องการสร้างบุญกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคติการสร้างวัดเพื่อถวายในพุทธศาสนาพวกเข้าถือว่าได้บุญกุศลแรงกล้า ผนวกกับความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้ที่สถิตย์อยู่ตามต้นไม้ใหญ่ในป่า ซึ่งพวกเขาได้เข้าไปตัดโค่นทำลายลงทุกวันจึงทำให้บรรดาพ่อค้าชาวพม่าเหล่านั้นประสงค์จะสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นการไถ่บาป สำหรับคนที่มีเงินทองมาก ๆ จะนิยมสร้างวัดขึ้นใหม่ทั้งวัดส่วนคนที่พอจะมีเงินก็จะใช้วิธีซ่อมแซมบูรณะวัด
เดิมที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์ขึ้น
ประเพณีการสร้างและบูรณะวัดพม่าจึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่นั้นมา โดยเฉพาะที่จังหวัดลำปางซึ่งเป็นแหล่งทำไม้สักที่สำคัญเมืองหนึ่งในล้านนามีวัดพม่าที่สวยงามวิจิตรอยู่มากมายหลายวัดล้วนสร้างขึ้นจากศรัทธาของชาวพม่าทั้งสิ้น จนมีคำกล่าวที่ว่า หากจะมาชมวัดพม่าที่สวยงามแล้วให้มาที่จังหวัดลำปาง
วัดศรีรองเมืองเป็นวัดพม่าอีกวัดหนึ่งที่สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของพ่อค้าไม้ชาวพม่าชื่อ พ่อเฒ่าจองตะก่า อินต๊ะและแม่เฒ่าจองตะก่า ศรีคำออน (นามสกุลศรีสองเมือง) คหบดีชาวพม่าท่านสร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2448 ศรัทธาชาวบ้านท่าคราวน้อยสร้างขึ้นพร้อมช่างชาวพม่าจากเมืองมัณฑะเลย์ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของพม่า วัดนี้เดิมชื่อ วัดท่าคราวน้อยพม่า ต่อมาเปลี่ยนเป็นวัดศรีรองเมืองตามนามสกุลของพ่อเฒ่าจองตะก่าอินต๊ะ
ความสวยงามของวัดนี้อยู่ที่วิหารเป็นอาคาร 2 ชั้นมีหลังคาซ้อนกันแบบพม่า ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนชั้นบนทำด้วยไม้ ภายในวิหารประดิษฐานพระประธานที่ทำจากไม้ขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางของเรือนยอด บนพระวิหารที่เป็นเรือนไม้นั้นมีเสากลมใหญ่เรียงรายกันหลายต้น แต่ละต้นประดับประดาด้วยลวดลายจำหลักไม้และกระจกสีแวววับสวยสดงดงาม จุดเด่นของศิลปกรรมพม่าที่วัดศรีรองเมืองอยู่ที่ลวดลายฉลุโลหะและไม้ที่ประดับอยู่ตรงเชิงชายของหลังคาแต่ละชั้น สำหรับลวดลายที่ฉลุด้วยแผ่นโลหะบาง ๆ นั้นนอกจากจะให้ความงามในเรื่องช่องไฟและการประดิษฐ์แล้ว ยังให้ความรู้สึกอ่อนไหวราวกับว่าลวดลาย
ต่าง ๆ นั้นพริ้วไหวไปตามลม
พระพุทธรูปบัวเข็มพระประธานของวัด เป็นพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้ศิลปกรรมแบบพม่ามีความงดงามน่าเลื่อมใส มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระพุทธรูปองค์นี้ว่า สมัยก่อนมีไม้สักท่อนขนาดมหึมาไหลมาตามแม่น้ำวังแล้วมาติดอยู่ที่ท่าน้ำหลังวัดศรีรองเมือง ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันนำท่อนไม้สักมาเก็บรักษาไว้ที่วัด เมื่อผู้คนทราบข่าวต่างก็เดินทางมากราบไหว้ไม้สักท่อนนี้บางคนนำเอาดอกไม้ธูปเทียนมาบูชา จนวันหนึ่งมีฝนตกฟ้าร้องลมพัดแรงมากปรากฏว่าเทียนที่จุดไว้บนท่อนไม้ไม่ยอมดับ ศรัทธาชาวบ้านพร้อมด้วยพ่อเฒ่าจองตะก่าอินต๊ะจึงได้ให้ช่างมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปแบบพม่าแล้วจึงนำมาประดิษฐานไว้ที่วิหารวัดศิลปกรรมวัดพม่าในเมืองลำปางยังคงสะท้อนรอยอดีตของพ่อค้าชาวพม่าที่เข้ามาทำไม้ในเมืองลำปางเมื่อราวร้อยกว่าปีได้เป็นอย่างดี ซึ่งที่วัดศรีรองเมืองก็เป็นวัดพม่าวัดหนึ่งในเมืองลำปางที่มีความสวยงามไม่น้อย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น