รมช.มนัญญา เร่งรัดการตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม รองรับปริมาณน้ำนมดิบใน 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

วันที่​ 14 ธันวาคม 62 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม และศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจร ขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ภาคเหนือตอนบนใน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณผู้อำนวยการ อ.ส.ค. ผู้บริหารของ อ.ส.ค. และหัวหน้าส่วนราชการใน จ.ลำปาง ร่วมให้การต้อนรับนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ปัจจุบันการเลี้ยงโคนมในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง นับเป็นฐานการผลิตน้ำนมดิบที่สำคัญและคุณภาพดีที่สุดของประเทศไทย มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็น สหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมมากถึง 18 สหกรณ์ และบริษัทเอกชน 4 แห่ง มีเกษตรกรรวม 1,403 ราย จำนวนโคนมทั้งหมด 64,147 ตัว ปริมาณน้ำนมดิบที่ผลิตได้ 8,990 ตันต่อเดือน หรือ 300 ตันต่อวัน และมีแนวโน้มปริมาณน้ำนมดิบของเกษตรกรเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถานการณ์ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมีความวิตก หากไม่มีการขยายโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม เพื่อรองรับปริมาณน้ำนมดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  อาจส่งผลให้เกิดปัญหานมล้นตลาดในอนาคต ตนจึงได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้า เพื่อให้โครงการดังกล่าวแล้วเสร็จเร็วที่สุด เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ขาดโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ขนาดที่เพียงพอรองรับน้ำนมดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งหากไม่รีบตั้งโรงงาน คาดน้ำนมดิบจะเกินความต้องการในปี 2563 ตามมาอย่างแน่นอน ทั้งนี้ จากการเดินทางติดตามความก้าวหน้า ทราบว่าขณะนี้โครงการดังกล่าวคืบหน้าอย่างมาก โดยในส่วนของพื้นที่สำหรับใช้ก่อสร้างโรงงานนมนั้น อ.ส.ค ได้รับความอนุเคราะห์จากสถานีพัฒนาที่ดินลำปาง กรมพัฒนาที่ดิน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ในการมอบที่ดินรวม 154–3-75 ไร่สำหรับใช้ก่อสร้าง 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม โดยจะใช้พื้นที่ที่ อ.ส.ค. ได้รับอนุญาตให้เช่าที่ราชพัสดุ จากกรมธนารักษ์ โดยตรง จำนวน 79-0-00 ไร่ และส่วนที่ 2 การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจร ในพื้นที่ของกรมพัฒนาที่ดิน–สถานีพัฒนาที่ดินลำปาง โดยการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมพัฒนาที่ดิน กับ อ.ส.ค. พื้นที่จำนวน 75-3-75 ไร่ โดยได้มี การลงนามความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาที่ดิน กับ อ.ส.ค. ไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ อ.ส.ค. ยังได้ดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษามหาวิทยาลัยบูรพา ทำการศึกษาทบทวนโครงการพร้อมออกแบบโครงการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมและศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจร ภาคเหนือตอนบน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยที่ปรึกษาได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 ที่มีการสรุปผลการทบทวน-การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะจากมุมมองของที่ปรึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ พร้อมออกแบบโครงการที่ชัดเจน พร้อมดำเนินการในขั้นตอนที่ อ.ส.ค. สามารถจะนำเสนอเพื่อขอความสนับสนุนงบประมาณ หรือดำเนินการจัดหาผู้ลงทุนในลำดับต่อไป โดยโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม จะมีกำลังการผลิต 150 ตันต่อวัน ใช้งบประมาณค่าก่อสร้างและอุปกรณ์เครื่องจักรทั้งโครงการ 1,015,765,370.77 บาทด้าน ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวถึงความเป็นมา ในจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมและศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมแบบครบวงจร อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปางว่า เกิดจากชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคเหนือ จำกัด โดยนายชุมพร ปาลี รองประธานรักษาการประธาน ได้มีหนังสือกราบเรียน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในคราวเดินทางมาปฏิบัติราชการและเยี่ยมประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559 ขอความอนุเคราะห์ให้รัฐบาลพิจารณางบประมาณสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมขนาดใหญ่ และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมครบวงจร เนื่องจากการเลี้ยงโคนมในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแล้ว จึงได้ส่งเรื่องให้ อ.ส.ค. พิจารณาดำเนินการ ต่อมาคณะกรรมการ อ.ส.ค. ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2559 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะว่าเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ของชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคเหนือ จำกัด และเป็นไปตามความเห็นของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงให้ อ.ส.ค. ดำเนินการ ดังนี้ 1. จัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ที่ดำเนินการโดย อ.ส.ค. เพื่อรองรับผลผลิตน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้นตามที่รัฐบาล โดยจัดทำโครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตของเกษตรกรเป็นฟาร์มขนาดกลางและขนาดใหญ่ และ 2. จัดตั้งศูนย์เรียนรู้กิจการโคนมครบวงจร ซึ่งประกอบด้วยศูนย์ Feed Center เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนอาหารโคนมในราคาต้นทุนต่ำ ศูนย์เลี้ยงโคนมทดแทน เป็นการแบ่งเบาภาระ ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในการนำโคทดแทนมาเลี้ยงยังศูนย์แทน ตามข้อจำกัดด้านแรงงาน สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่สานต่ออาชีพของครอบครัว และ Smart Farm เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานด้านกิจการโคนมระดับนานาชาติ

ร่วมแสดงความคิดเห็น