ภูมิปัญญาของคนล้านนาในการทำ “ข้าวถัก” บ้านเมืองสาตร

ภูมิปัญญาอันล้ำลึกของคนล้านนาในการเรียงร้อยเมล็ดข้าวเปลือก ถักทอขึ้นจนเป็นเส้นที่ชาวบ้านเรียกว่า “ข้าวถัก” ใช้ประกอบในพิธีกรรมทางศาสนาที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษของบ้านเมืองสาตรหลวงได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง นี่อาจนับเป็นก้าวแรกของการรื้อฟื้น
มรดกทางวัฒนธรรมมา “ปัดฝุ่น” ขึ้นใหม่หลังจากที่พ่อครูแม่ครูฝีมือดีได้ล้มหายตายจาก เหลืออยู่เพียงไม่กี่คน และยังไม่นับรวมถึงความมหัศจรรย์ของภูมิปัญญาด้านหมอเมือง ภาษาและวรรณกรรม ช่างพื้นบ้านและการหามปราสาทศพที่จะทยอยฟื้นฟูอนุรักษ์หากจะกล่าวถึงรากเหง้าที่มาของบ้านเมืองสาดที่วันนี้เปลี่ยนมาใช้เป็น “เมืองสาตร” นั้นคงอาจกล่าวได้ไม่หมดในพื้นที่อันจำกัดของหน้ากระดาษ แต่พอจะอธิบายให้เข้าใจอย่างย่นย่อ
เมืองสาดเป็นหัวเมืองที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลอยู่ใกล้กับเมืองเขมรัฐตุงคะบุรีหรือเวียงเชียงตุง ในอดีตการเดินทางไปเมืองนี้จากเชียงตุงต้องใช้เวลาเดินทางถึง 7 วัน 7 คืน สมัยของพระยากาวิละเรืองอำนาจในยุคฟื้นม่านแทงม่านหรือ “ยุคเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง” ช่วงเวลาดังกล่าวเมืองเชียงใหม่ถูกยึดครองโดยพม่า พระยากาวิละจึงได้รวบรวมไพล่พลและยกทัพไปตีหัวเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่เมืองเล็กเมืองน้อยในเขตเชียงตุง เมืองสาด เมืองยอง เมืองลื้อขึ้นไปจนถึงสิบสองปันนาในจีน อพยพชาวบ้านจากท้องถิ่นต่าง ๆให้พาครอบครัว ลูกเมีย บ่าวไพร่ ลงมาเป็นพลเมืองของเชียงใหม่ ในปีที่สิรินรธาโป่ม่านย้ายมายึดครองเมืองสาด ชาวบ้านเมืองสาดถูกกวาดต้อนลงมาโดยมี หมื่นหลวง หมื่นน้อยเจ้าพ่อเมืองสาด แสนเมืองมา น้อยวงศ์เมืองแจด ลงมาเป็นข้าราชบริพาร

หลังจากที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาทางเมืองฝางใช้เวลาเดินเท้าจากเมืองสาดมาถึงเชียงใหม่รวมทั้งสิ้น 16 คืน จากนั้นจึงได้มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณที่ราบลุ่มฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงชาวบ้านเมืองสาดที่อพยพมาอยู่ฝั่งตะวันของแม่น้ำปิงในปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากชาวไทเขิน การดำเนินชีวิตแบบพื้นบ้านดั่งเดิมไทเขินได้เกิดการผสมผสานทางศิลปวัฒนธรรมความเชื่อ ภาษาและประเพณี ชาวเมืองสาดได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่อย่างกลมกลืนโดยสมบูรณ์และได้เปลี่ยนชื่อจากเมืองสาด (เดิม) มาเป็นเมืองสาตร (ใหม่)
ด้วยความที่คนเมืองสาตรมีรากเหง้ามาจากชาวไทเขินมีความเชื่ออย่างเคร่งครัดต่อศาสนาพุทธ เมื่อใดก็ตามที่ชาวบ้านว่างเว้นจากการทำไร่นาจึงมักหันหน้าเข้าสู่วัด สังเกตได้จากงานบุญสำคัญทางศาสนาที่เกิดขึ้นในทุกเดือน เช่น งานบุญทานข้าวใหม่ งานบุญปี๋ใหม่เมือง งานบุญสรงน้ำพระ งานบุญก๋วยสลาก งานบุญเข้า-ออกพรรษา งานยี่เป็งและงานปอยเล็กปอยน้อยอีกมากมาย ด้วยเหตุที่ชาวเมืองสาตรจะต้องทำบุญเกือบตลอดเวลา จึงมักจะประดิษฐ์ประดอยสิ่งของขึ้นเพื่อใช้บูชาพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะภูมิปัญญาการถักข้าวซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวเมืองสาตรหลวง
ข้าวถักในความหมายของคนล้านนาเป็นเครื่องสักการะที่ใช้บูชาเบื้องสูงมาแต่โบราณ การถักเรียงเมล็ดข้าวเปลือกขนาดที่เท่ากันจำนวนหลายเมล็ดอย่างเป็นระเบียบแล้วนำมาล้อมรอบเหรียญชนิดต่าง ๆ ประกอบกันเป็นต้นวงไหวเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในโอกาสงานบุญสำคัญของพวกเขา การถวายข้าวถักเพื่อเป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้าเชื่อว่าจะได้รับอานิสงค์ผลบุญแห่งการให้ทานในโลกนี้และโลกหน้า รวมทั้งจะทำให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า เปรียบประดุจดั่งเมล็ดข้าวเปลือกที่ตกลงบนพื้นดินหนแห่งใดก็ตาม มักจะเจริญงอกงามขึ้นมาสร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้กับผืนแผ่นดินอย่างทั่วถึง
ปัจจุบันข้าวถักล้านนาได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอนุรักษ์ใหม่โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเมืองสาตรหลวงที่เห็นคุณค่าของข้าวถักล้านนา
การสืบทอดการถักข้าวเริ่มจากลูกหลานของแม่ลัยภายในครอบครัวที่อยู่ด้วยกันเกือบ 15 คน ความเข้าใจกันและกันในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมยังได้สร้างความอบอุ่นให้แก่ครอบครัว หากแต่ครอบครัวของแม่ลัยก็ไม่ได้เก็บภูมิปัญญาความรู้นี้ไว้ ยังได้กระจายการเรียนรู้งานหัตถกรรมพื้นบ้านไปสู่คนในชุมชนและผู้สนใจ อันเป็นการช่วยกระจายงานหัตถกรรมฝีมือการถักข้าวล้านนาให้เป็นที่รู้จักของผู้คน
ทั่วไปมากขึ้น นับเป็นการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนตรงตามความต้องการของบรรพชนที่ต้องการให้มีการสานต่อศิลปวัฒนธรรมให้คงอยู่กับวิถีชีวิตพื้นบ้านชาวเมืองสาตรต่อไป.
บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น