“น้าสน”เร่งแจ้งเกิดโรงไฟฟ้าชุมชน Quick Win ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนภาคอีสาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เร่งขับเคลื่อนนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากให้เป็นรูปธรรม ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อตรวจติดตามความพร้อมของการดำเนินการให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน ในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม และเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ที่พร้อมปรับปรุงระบบรองรับพืชพลังงานหญ้าเนเปียร์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ตามกรอบนโยบายเร่งด่วน Quick Win

วันนี้ (4 ม.ค.63) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน นายอนุรุท นาคาศัย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ตรวจติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนผลักดันนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างครอบคลุมจังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

โดยมี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานีและประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายธนสิทธิ์ โควสุรัตน์ ส.ส. จังหวัดอุบลราชธานี พรรคพลังประชารัฐ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีปฏิบัติงานที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีปฏิบัติงานที่กระทรวงมหาดไทย นายเดชพล เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทอุบลไอโอเอทานอล จำกัด และ พลังงานจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างประกอบด้วย จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ร่วมให้การต้อนรับ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ มีภารกิจสำคัญคือ การประชุมหารือร่วมกับ 4 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี และติดตามการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานตามนโยบายที่ได้มอบหมายไว้ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก สถานีพลังงานชุมชน การของบประมาณกองทุนเพื่ออนุรักษ์พลังงานเพื่อการแก้ปัญหาภัยแล้ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงการติดตามพื้นที่ที่ต้องการความมั่นคงด้านไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งภาพรวมขณะนี้ อยู่ระหว่างการเร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมตามนโยบายที่ได้มอบหมายไว้

โดยในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนนั้น ได้ผ่านความเห็นชอบเกี่ยวกับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.62 ที่ผ่านมา ในปี 2563 นี้ จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของผู้ผลิตรายเล็กมาก (VSPP) ในรูปแบบ FiT จำนวนรวม 700 เมกะวัตต์ (MW) โดยให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้า Quick Win ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จเข้าร่วมโครงการก่อน ซึ่งโครงการจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2563 นี้

สำหรับในการร่วมทุนนั้นได้วางหลักเกณฑ์ไว้โดยให้ความสำคัญไปที่ประโยชน์ต่อชุมชนเป็นหลัก โดยผู้เสนอโครงการที่อาจเป็นภาคเอกชนหรืออาจร่วมกับองค์กรของรัฐ จะถือหุ้นในโครงการได้ 60% – 90% ส่วนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 10% – 40% โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน และยังมีการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ตามหลักเกณฑ์ รวมทั้งต้องมีแผนจัดหาเชื้อเพลิง รับซื้อเชื้อเพลิงราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน แบบคอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) ด้วย

“เป้าหมายหลักของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนคือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยนโยบายพลังงาน ซึ่งการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกว่า 7 หมื่นล้านบาท ก่อเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ และรายได้ให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ชุมชนรอบโรงไฟฟ้ายังจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าอีกด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว โดยการลงพื้นที่จังหวัดอุบลในครั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะได้เข้าเยี่ยมชมโครงการด้านพลังงานทดแทนของบริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีการผลิตเอทานอล ผลิตก๊าซชีวภาพ และโรงไฟฟ้าขนาด 5.6 MW เพื่อดูการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล เนื่องจากเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าที่แสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการตามกรอบเวลาของนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเร่งด่วน Quick Win

โดยโรงงานมีระบบผลิตไบโอก๊าซที่ผลิตจากการย่อยกากมันสำปะหลังที่ได้รับจากโรงแป้งมันฯ สามารถปรับปรุงระบบรองรับหญ้าเนเปียร์ได้ภายใน 6 เดือน โดยมีกากมันสำปะหลังซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตเอทานอลนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเสริมประสิทธิภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพ และมีโรงไฟฟ้าขนาด 5.6 MW ที่มีสายส่งขนาด 115 kV และ 22 kV พร้อมรับการจำหน่ายไฟฟ้า
ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังมีสมาชิกกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรที่มีพื้นที่เกษตรกรรมอยู่บริเวณรอบโรงงาน มีความต้องการและมีความพร้อมในการเข้าร่วมถือหุ้นกับโรงไฟฟ้า โดยกลุ่มบริษัทฯ มีการประกันราคาและรับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังที่แน่นอนกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีระบบท่อส่ง และกระจายน้ำให้ชุมชน สามารถลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตในการปลูกหญ้าเนเปียร์ และมีโครงการสนับสนุนกากมันสำปะหลัง เพื่อเป็นสารปรับปรุงบำรุงดิน รวมทั้ง กลุ่มบริษัทฯ มีที่ดินปลูกหญ้าเนเปียร์มากกว่า 2,000 ไร่ มีประสบการณ์ในการปลูก และจัดการแปลงหญ้าเนเปียร์มากว่า 5 ปี มีผลผลิตสูงเฉลี่ยประมาณ 10 ตันต่อไร่ สามารถเป็นแปลงต้นแบบสาธิตให้กลุ่มเกษตรกรได้มาศึกษาเรียนรู้ #EnergyForAll

…………………………………………………

ร่วมแสดงความคิดเห็น