ม.แม่โจ้ ประสบความสำเร็จการปลูก และเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประสบความสำเร็จจากงานวิจัยในโครงการปลูก และเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม คาดว่าเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตดอกกัญชาสดไม่น้อยกว่า 10 ตัน

วันนี้ (6 ม.ค. 63) รศ.ดร.วีระพล ทองมา รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยถึงโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2562 นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาเยี่ยมชม และปลูกกัญชาต้นแรก ซึ่งเป็นต้นกัญชาพันธุ์อิสระ 01 ซึ่งได้รับเมล็ดพันธุ์จากกรมการแพทย์ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่มีสาร CBD และ THC อยู่ในระดับที่สมดุล ภายในโรงเรือนอัจฉริยะ ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ด้าน ศ.ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า กัญชาเป็นพืชที่มีกลิ่นหอมดึงดูดแมลงได้ดี มีผลต่อการเกิดโรคพืชได้ ส่วนใหญ่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากและบ่อยครั้ง ซึ่งจะทำให้กัญชามีสารเคมีตกค้าง ส่งผลต่อการนำไปใช้ทางการแพทย์ จึงจำเป็นต้องปลูกในระบบอินทรีย์ โดยเริ่มจากการเพาะเมล็ดซึ่งใช้นวัตกรรมวัสดุปลูก และเทคนิคการเพาะเมล็ดที่ทำให้เมล็ดงอกภายในระยะเวลาสั้น และเริ่มนำต้นกล้าปลูกในวัสดุปลูก ในโรงเรือนขนาด 3,040 ตารางเมตร ปลูกระยะชิดได้จำนวน 12,000 ต้น ภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิด และใช้นวัตกรรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งวัสดุปลูก การให้น้ำและสารอาหารอินทรีย์ การควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นและแสง รวมทั้งการกำจัดศัตรูพืช ขณะนี้ต้นกัญชามีความสมบูรณ์เต็มที่ออกดอกประมาณ 8 ช่อต่อ 1 ต้น พร้อมให้เก็บเกี่ยวซึ่งหลังการเก็บเกี่ยวจะได้ผลผลิตดอกกัญชาสดไม่น้อยกว่า 10,000 กิโลกรัม หรือ 10 ตัน เพื่อส่งมอบให้กรมการแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม ซึ่ง นายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเดินทางมาตัดช่อกัญชาช่อแรกที่ฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในวันที่ 15 มกราคมนี้ นับเป็นผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จในระดับชาติ จากโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาทางการแพทย์ 12,000 ต้น ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรมครั้งแรกของประเทศไทย

ขอบคุณ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น