ผู้ใหญ่หมูเฟียต! เป็นแกนนำฟื้นฟูประเพณีพิธีห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ พระธาตุเก่าแก่ คู่บ้านนาแหลม

ผู้สื่อข่าวรายงานมาจากจังหวัดแพร่ เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 7 มกราคม 2563 นายภุชงค์ สำลีราช หรือผู้ใหญ่หมูเฟียต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ตำบลทุ่งกวาว อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ร่วมกับ อาจารย์คำเกี้ยว เมืองเอก ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลทุ่งกวาว นายสมหมายศรีใจ อดีตกำนันตำบลทุ่งกวาว และประชาชนบ้านนาแหลม หมู่ 6 และชาวบ้านบ้านในเขตตำบลทุ่งกวาว คณะศรัทธาวัดโศภนาลัย โดยการนำของ พระครูพิบูลพัฒนโกศล เจ้าคณะอำเภอเมืองแพร่ เจ้าอาวาสวัดโศภนาลัย ได้ร่วมกันฟื้นฟูประเพณีห่มผ้าพระธาตุและไหว้พระธาตุเจดีย์นาแหลม ซึ่งเป็นเจดีย์ที่มีอายุหลายร้อยปี ที่ตั้งอยู่บริเวณกลางทุ่งนา หมู่ 6 โดยตั้งขบวนแห่ ณ วัดโศภนาลัย เคลื่อนขบวน โดยมีคณะศรัทธาประชาชนตำบลทุ่งกวาว คณะครูนักเรียนโรงเรียนรัฐราษฎร์บำรุง ผ่านตามเส้นทางหมู่บ้าน เวลา 10.30 น. ถวายภัตราหารเพล เวลา 11.30 น. ประชาชนที่ไปร่วมทำบุญร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ณ โรงทานวัดพระธาตุเจดีย์นาแหลม มีผู้ใจบุญนำมาร่วมอาหารมาร่วมบริจาค จากนั้นมีการรำบวงสรวงพระธาตุเจดีย์ โดย คณะฮอมบุญ จากการนำของ นางวราภรณ์ เสนาใจ ครูจิ๊ฟ เวลา 13.00 น. ร่วมกันถวายผ้าห่มพระธาตุ เวลา 13.30 น. ร่วมกันห่มผ้าพระธาตุ เป็นเสร็จพิธี

ประวัติวัดพระธาตุเจดีย์ จากบทความไปจังหวัดแพร่แวะดูวัดพระธาตุเจดีย์ ที่นี่ไม่มีพระจำวัด โดย สมฤทธิ์ ชัยพลังฤทธิ์ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ.2544 เขียนไว้ว่า วัดพระธาตุเจดีย์ บ้านนาแหลม พระโกศัยธรรมคณี เจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสวัดทุ่งกวาว ในขณะนั้นปัจจุบัน คือ พระราชวิสุทธี ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดแพร่ หรือหลวงปู่ ก๋วนได้เล่าว่าวัดพระธาตุเจดีย์ไม่ปรากฏหลักฐานใครผู้สร้าง สอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ในนาแหลมก็เห็นมาตั้งแต่เด็กในสภาพรกร้าง มีสิ่งก่อสร้างปรักหักพังมานาน คาดเดาจากหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ หนังสือของไทยล้านนาที่ได้แสดงลักษณะของพระธาตุไว้วัดพระธาตุเจดีย์ สร้างมาไม่ต่ำกว่า 400 ปี ประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 โดยสันนิษฐานจากลักษณะของพระธาตุ ยุคนั้นเมืองแพร่เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากทางลำพูน เชียงใหม่ในสมัยพระนางจามเทวี

วัดพระธาตุเจดีย์พบว่า มีการก่อสร้างไว้อย่างสมบูรณ์แบบ มีเจดีย์ อุโบสถ และพัทธสีมาครบถ้วน บ่งบอกว่าชุมชนในอดีตแถวนี้ต้องหนาแน่น และมีความเจริญเป็นชุมชนที่มีกำลังทรัพย์ ไม่งั้นไม่สามารถสร้างวัดได้และบริเวณโดยรอบต้องมีหมู่บ้านเรียงรายกันไป เพราะมีการพบซากวัดเก่าแก่อีก 2 วัด คือ วัดป่าสูงและวัดผกาเสนโด ชื่อวัดทั้ง 2 เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันในปัจจุบัน ส่วนชื่อเดิมของวัดไม่ปรากฏเพราะหาหลักฐานไม่พบ คาดการล่มสลายของหมู่บ้าน และวัดน่าจะเกิดจากเหตุการณ์สงครามช้างเผือกในปีพ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองรบชนะไทยแล้วกวาดต้อนชาวบ้าน เชลยศึก หมู่บ้านวัดวาอารมถูกเผาวอดวาย หลังสงครามสงบจึงเกิดชุมชนขึ้นมาใหม่ ตั้งห่างจากหมู่บ้านเดิมมาทางทิศใต้ เรียกหมู่บ้านนาแหลมและอีกกลุ่มตั้งทางทิศตะวันตกเรียกหมู่บ้านทุ่งกวาว ชาวบ้านมีการสร้างวัดใหม่ขึ้นมาแต่ไม่มีพัทธสีมา ดังนั้น การประกอบกิจทางศาสนาก็ยังอาศัยวัดพระธาตุเจดีย์ประกอบสังฆกรรม เพราะวัดเป็นวัดที่สมบูรณ์ครบถ้วน มีการบูรณะดูแลเรื่อยมา

ต่อมาปี พ.ศ.2480 วัดทุ่งกวาวได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ทำให้ประกอบสังฆกรรมได้ วัดพระธาตุเจดีย์จึงถูกทิ้งร้าง ขาดการเอาใจใส่ ชำรุดทรุดโทรมไปตามการเวลาจนถึงปัจุจบัน อนึ่ง เมื่อปี พ.ศ 2530 ปีท่องเที่ยวไทย หลวงปู่ก๋วนและคณะศรัทธาชาวตำบลทุ่งกวาว ได้ร่วมบูรณะปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ และอุโบสถที่ปรักหักพังถวายเป็นพระราชกุศลให้กับในหลวง ร.9 เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนพรรษาครบ 5 รอบ โดยได้จัดทำยอดฉัตรเจดีย์เป็นรูปฉัตร 7 ชั้น เรียกชื่อตามภาษาท้องถิ่นเพื่อเป็นสิริมงคล ชั้นที่ 1 หมอกมุงเมือง ชั้นที่ 2 รุ่งเรืองทั่วฟ้า ชั้นที่ 3 ฝูงไพร่ฟ้าจื้นจม ชั้นที่ 4 สุขเกษมศานต์ทั่วหน้า ชั้นที่ 5 มั่งมูลดก ชั้นที่ 6 สุขเสถียรจีระมาศ ชั้นที่ 7 ประชาราษฏร์ยินดี นายภุชงค์ สำลีราช ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บ้านนาแหลม กล่าวว่า เมื่อคนได้มารับตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน บ้านนาแหลมหมู่ 6 เห็นว่าที่ในหมู่บ้านมีพระธาตุเจดีย์เก่าแก่ เป็นโบรารณสถาน เมื่อก่อนนี้นั้นบรรพบุรุษได้มีพิธีกรรม เข้ารุกขมูล ทำบุญไหว้พระธาตุเจดีย์ มาในระยะช่วงหลัง หลายปีที่ผ่านมา ไม่มีประเพณีไหว้พระธาตุเจดีย์นาแหลม มาปีนี้จึงได้ริเริ่มขึ้นอยู่ในช่วง เดือน 4 แรม 2 ค่ำ ปีนี้อาจจะล่าไปหน่อย ปีหน้าจะวางแผนร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานอื่น ๆ ในตำบลทุ่งกวาว ได้จัดงานไหว้พระธาตุและห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ ปีนี้ก็ขอบคุณพี่น้องประชาชนตำบลทุ่งกวาวที่ได้สนับสนุนการจัดงานในวันนี้อีกครั้ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น