ไอเดีย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล สร้างแบรนด์กาแฟจาก 3 เทือกเขา ใน อช.ศรีลานนา จนติดตลาด

ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทำบุญ และกราบไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ต้องแปลกใจที่เห็นร้านกาแฟเปิดขายภายในวัด และที่สำคัญบาริสต้าที่ทำหน้าที่ชงกาแฟ คือ พระสงฆ์และสามเณร และเมื่อเห็นป้ายชื่อร้าน “กาแฟเมตตาธรรมค้ำจุนโลก ดื่มแล้วได้บุญชุมชนมีงานทำ” หลายคนจึงไม่พลาดเข้าไปอุดหนุน และบริจาคเงินตามจิตศรัทธา เพราะเงินที่บริจาคเป็นค่ากาแฟ 1 แก้ว 50 % จะถูกจัดสรรมอบให้ชาวบ้านที่ปลูกกาแฟ-ชา, 20 % เป็นทุนการศึกษาให้พระสงฆ์-สามเณร และเด็กนักเรียนในชุมชน ส่วนที่เหลืออีก 30 % จัดสรรออกเป็น 3 ส่วน เพื่อเป็นกองทุนดูแลป่าต้นน้ำ, สร้างฝายชะลอน้ำ และเป็นกองทุนดูแลโครงการคืนต้นไม้สู่ไพรพฤกษ์

ซึ่งร้านกาแฟแห่งนี้เปิดมากว่า 3 ปีแล้ว โดยมีพระสงฆ์และสามเณรเป็นบาริสต้า และทำหน้าที่สอนการชงกาแฟให้กับครู กศน. และชาวบ้านที่มาช่วยงาน ทำหน้าที่สับเปลี่ยนกับพระสงฆ์-สามเณร ที่ต้องศึกษาพระธรรม และปฎิบัติกิจของสงฆ์ในบางช่วงเวลา
พระครูวรวรรณวิวัฒน์ ดร. เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล และเจ้าคณะ ต.โหล่งขอด ในฐานะประธานโครงการคนพร้าวรักษ์ป่า เล่าถึงที่มาที่ไปของร้านกาแฟ ว่าในอดีตป่าในพื้นที่ อ.พร้าว ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา มีปัญหาเรื่องการบุกรุกทำลายป่ามาก เมื่อป่าต้นน้ำถูกทำลายในฤดูน้ำหลากจึงเกิดน้ำท่วม และเมื่อถึงฤดูแล้งก็เกิดปัญหาชาวบ้านแย่งน้ำกัน จนมีปัญหากระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่มากวดขันชาวบ้านไม่ให้บุกรุกแผ้วถางป่า

ในฐานะที่เป็นพระสงฆ์มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้คน และสังคมให้พ้นทุกข์ และที่นี่ยังเป็นบ้านเกิดของอาตมา จึงเข้ามาเป็นตัวกลางนำชาวบ้านและอุทยานฯ มาพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหา จนเป็นที่มาของโครงการโหล่งขอดโมเดล เมื่อปี 2550 เพื่อดูแลป่าอุทยานแห่งชาติศรีลานนาที่อยู่ติดชุมชน มีพื้นที่มากกว่า 8 แสนไร่ หลังดึงชาวบ้านมาร่วมรักษาป่าไม้ จนกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง อานิสงค์ที่ตามมา คือ ทรัยากรอันมีค่าที่มีอยู่ในป่าต้นน้ำ ที่มีความสูงกว่า 1 พันเมตร คือ ต้นกาแฟ และชาอัสสัม โดยเฉพาะกาแฟที่ปลูกอยู่ในป่าต้นน้ำ ในพื้นที่ 3 เทือกเขา คือ เทือกเขาบ้านแม่สายป่าเมี่ยง ต.โหล่งขอด, เทือกเขาบ้านป่าเมี่ยงขุนปั๋ง ต.แม่ปั๋ง และเทือกเขาดอยขุนแจ๋ ต.ขุนแจ๋ และดอยม่อนล้าน อ.พร้าว

อาตมาจึงเกิดไอเดีย สนับสนุนให้ชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่ ปลูกกาแฟและชา เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากอุทยานแห่งชาติศรีลานนา และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ปัจจุบันผลผลิตกาแฟที่ผลิตได้ ไม่ต่ำกว่า 10 ตัน ส่วนหนึ่งโครงการหลวงและโครงการในพระราชดำริ รวมทั้งเอกชนมารับซื้อไป ที่เหลือโครงการคนพร้าวรักษ์ป่า เข้ามารับซื้อผลผลิตกาแฟที่เป็นออแกนิค จากนั้นจะว่าจ้างผู้สูงอายุในชุมชนคัดเมล็ดกาแฟ ก่อนส่งไปคั่วที่โรงคั่วกาแฟของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อบรรจุแพ็คเกจขาย รวมทั้งขายในร้านกาแฟเมตตาธรรมค้ำจุนโลกของวัดเอง

ซึ่งเมล็ดกาแฟที่ปลูกในพื้นที่ป่า ของอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ได้รับการยอมรับเรื่องของรสชาติเป็นอย่างมาก เพราะปลูกในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ถือเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการดูแลรักษาป่าในพื้นรอยต่อ 2 จังหวัด คือ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ที่คลอบคลุม 3 อำเภอ คือ อ.แม่แตง อ.เชียงดาว อ.พร้าว ของ จ.เชียงใหม่

ด้านผู้ใหญ่บ้าน บอกว่า ปัจจุบันชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากเดิมชุมชนไม่มีอาชีพและรายได้ที่แน่นอน แต่ทุกวันนี้มีรายได้จากการทำกาแฟขาย จากผลผลิตกาแฟ ปีละ 10 ตัน มีรายได้ต่อปีรวมแล้วกว่า 6 แสนบาท ขณะเดียวกันหลังเลิกแผ้วถางป่า ก็ได้ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์กลับคืนมาด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น