เที่ยวพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหริภูญชัย ชมจารึก “อักษรมอญ” ที่เก่าแก่ที่สุด

แท่งหินจารึกประวัติศาสตร์ทั้ง 36 หลัก ซึ่งถือได้ว่าเก่าแก่ที่สุดในอาณาจักรล้านนาเหล่านี้ ถูกจัดแสดงให้ชมอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญไชย โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ศิลาจารึกสมัยหริภุญชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 17 มีอยู่จำนวน 8 หลัก กลุ่มที่สอง ศิลาจารึกสมัยล้านนา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 20 ลงมามีอยู่จำนวน 31 หลัก

ศิลาจารึกสมัยหริภุญชัยทั้ง 8 หลักนั้นจารึกด้วยอักษรมอญ ส่วนไวยากรณ์หรือการผูกอักขระมีทั้งแบบที่ใช้ภาษามอญและภาษาบาลี จารึกบางหลักระบุชัดเจนถึงชื่อเจ้าผู้ครองนคร เช่น พระเจ้าสววาธิสิทธิ หรือ พระเจ้าสรรพสิทธิ ได้กล่าวถึงการที่พระองค์ทรงผนวช พร้อมด้วยพระโอรสในปี พ.ศ.1628 เป็นต้น ส่วนศิลาจารึกสมัยล้านนานั้นจารึกด้วยอักษรธรรม หรืออักษรไทยล้านนา มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 จารึกที่ปรากฏบนแท่งหินส่วนใหญ่จะกล่าวถึงเรื่องราวของการอุทิศบุญกุศลถวายแด่พระสงฆ์ เนื่องในโอกาสงานสำคัญต่าง ๆ

ถ้าจะให้สืบสาวถึงบรรพบุรุษต้นตระกูลของอักษรมอญ และอักษรขอมให้ลึกยิ่งขึ้นไปอีก ก็จะพบว่าทั้งคู่มีต้นกำเนิดมาจาก อักษรคฤนถ์ ของอินเดียทางตอนใต้ในช่วงราชวงศ์ปัลลวะ กล่าวโดยสรุปก็คือ อักษรไทยที่เราใช้เขียนกันอยู่ทุกวันนี้มีรากเหง้ามาจากอักษรพราหมของอินเดียที่แตกหน่อออกกอเป็นอักษรเทวนาครีของฝ่ายเหนือและอักษรคฤนถ์ของฝ่ายใต้ ส่วนความเป็นมาของอักษรธรรมหรืออักษรไทยล้านนา ที่เคยได้รับความนิยมอย่างสูงสุดระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-24 พบหลักฐานเก่าแก่สุดว่ามีมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.1919 ร่วมสมัยกับ “ลายสือไทย” ของพ่อขุนรามคำแหง แต่นักภาษาศาสตร์หลายท่านเชื่อว่าอักษรไทยล้านนาน่าจะมีอายุเก่าแก่กว่าอักษรลายสือไทยเล็กน้อย

สาเหตุที่เชื่อเช่นนี้ก็เพราะว่าในศิลาจารึกหลักที่ 1 ได้กล่าวว่าพ่อขุนรามคำแหงเดินทางขึ้นไป กินโขงเมื่อแล้ง หมายถึงไปดื่มน้ำที่แม่โขงแห่งอาณาจักรล้านนาที่เมืองเชียงแสนมาแล้วก่อนที่จะมีการประดิษฐ์ลายสือไทย แสดงว่าอาณาจักรล้านนาของพ่อขุนมังรายรวมทั้งวัฒนธรรมด้านอักขระมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่แล้วก่อนที่พ่อขุนรามคำแหงจะมาเยือนดินแดนล้านนาอย่างไม่ต้องสงสัย

สันนิษฐานว่า เมื่อพ่อขุนมังรายจากอาณาจักรล้านนาได้ยกทัพมาตีเมืองหริภุญชัยและได้สร้างเมืองเชียงใหม่ ครั้งกระนั้นผู้คนในแถบลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำกวงยังคงใช้อักษรกันอยู่อย่างแพร่หลาย ดังนั้นพ่อขุนมังรายจึงจำยอมรับเอาอักษรมอญมาใช้สื่อกับพสกนิกรด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความปึกแผ่น เพียงแต่ทรงนำอักษรมอญมาใช้อย่างแนบเนียน คือไม่ได้รับเอามาทั้งหมดแต่ได้ดัดแปลงมาเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ด้วยเหตุนี้อักษรไทยล้านนาจึงมีลักษณะใกล้เคียงกับอักษรมอญโบราณแห่งนครหริภุญชัย มากกว่าอักษรมอญในปัจจุบัน

ดังนั้น อักษรไทยที่เราใช้ในปัจจุบัน มีวิวัฒนาการสืบต่อมาจากลายสือไทย ซึ่งประดิษฐ์โดยพ่อขุนรามคำแหงเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 19 แต่เรื่องราวของอักษรมอญยังคงมีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมากมาย สำหรับท่านที่สนใจจะแกะรอยจารึกอักษรมอญโบราณต้องเข้าไปชมศิลาจารึกอักษรมอญโบราณที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุญไชย

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น