“เจ้าจักรคำขจรศักดิ์” เจ้าหลวงลำพูนองค์สุดท้าย

พลตรีมหาอำมาตย์โท เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 10 (พ.ศ. 2454-2486) เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์มีพระนามเดิมว่า เจ้าน้อยจักรคำ เป็นโอรสของเจ้าหลวงอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 9 กับแม่เจ้ารถแก้ว สมภพ ณ วันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีกุน สัปตศก จุลศักราช 1237 ตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2418 ที่คุ้มหลวงลำพูน มีภาดาและภคินีร่วมเจ้าบิดาและมารดา ดังนี้ 1. เจ้าหญิงแก้วมุกดา 2. เจ้าชายตุ้ย (ถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ยังเยาว์) 3. เจ้าน้อยจักรคำ และ 4. เจ้าหญิงแก้วมาเมือง (ถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ยังเยาว์) และ 5. เจ้าหญิงคำหล้า หรือเจ้าหญิงหล้า
มีภาดาและภคินี ร่วมเจ้าบิดา 2 องค์ คือ 1. เจ้าสายเขียว กำเนิดจากหม่อมบุสม์ หรือหม่อมบัวจีน และ2. เจ้าหญิงทิพย์นวล กำเนิดจากหม่อมคำเที่ยง

เจ้าจักรคำฯ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฐานันดรศักดิ์ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ สมรสครั้งแรกกับ เจ้าหญิงขานแก้ว ธิดาองค์โตของเจ้าบุรีรัตน์ นครลำพูน (เจ้าน้อยพรหมเทพ) กับเจ้าสุนา (ญ) มีโอรถและราชธิดาด้วยกัน 4 องค์ คือ 1. เจ้าหญิงลำเจียก 2. เจ้าหญิงวรรณา 3. เจ้าพงศ์ธาดา และ 4. เจ้ารัฐธาทร
หลังจากเจ้าหญิงขานแก้วถึงแก่อนิจกรรม เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้สมรสครั้งที่ 2 กับเจ้าหญิงแขกแก้ว ธิดาองค์เล็กของเจ้าบุรีรัตน์ นครลำพูน (เจ้าน้อยพรหมเทพ) กับเจ้าสุนา (ญ) มีโอรสและราชธิดาด้วยกัน 4 องค์ คือ 1. เจ้าวรทัศน์ 2. เจ้ารัชเดช 3. ถึงแก่อนิจกรรมหลังจากคลอด และ 4. ถึงแก่อนิจกรรมหลังคลอด

เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ มีโอรสและธิดากำเนิดจากชายาและหม่อมอื่น ๆ อีก 3 องค์ คือ 1. เจ้าสุริยา กำเนิดจากหม่อมแว่นแก้ว 2. เจ้าประกายคำ กำเนิดจากหม่อมคำแยง และ 3. เจ้าพัฒนา กำเนิดจากเจ้าส่วนบุญ
เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 รวมศิริอายุได้ 69 ปี
รูปงานพระราชทานเพลิงเจ้าหลวงลำพูน ภาพแรกงานพระราชทานเพลิงพระศพเจ้าหลวงอินทยงยศโชติเจ้าหลวงนครลำพูนองค์ที่ 9 ณ สุสานหลวงบ้านหลวย และภาพถ่ายโกศศพเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงนครลำพูนองค์ที่ 10

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น