ส่องชีวิตเด็กเหนือ คุณภาพชีวิตเมืองกับชนบท ยังเหลื่อมล้ำสูง

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม สถาบันการศึกษาชั้นนำในภาคเหนือ กล่าวว่า พลวัฒน์ด้านประชากรของไทยในปัจจุบัน มีกว่า 66.4 ล้านคน เฉพาะภาคเหนือมีประชากรประมาณ 12.1 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีประชากรวัยเด็กต่ำกว่า 15 ปี ร่วม 11.3 ล้านคน แยกเป็นชาย 5.8 ล้านคน หญิง 5.5 ล้านคน กลุ่มก่อนวัยเรียน 0-5 ขวบ พบว่ามี 4.3 ล้านคน และประชากรกลุ่มวัยเรียนอีก 13.1 ล้านคน อัตราการเกิด 10.5 ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ว่าไทยมีการเกิดลดน้อยลง หากสำรวจสถิติจากงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยมหิดล และหลาย ๆ มหาวิทยาลัยในภาคเหนือ มีสถิติสอดรับกับหน่วยงานด้านสถิติที่ยืนยันว่า สังคมไทยเริ่มเป็นสังคมสูงวัยและเด็กเกิดน้อยลง

ข้อมูลด้านสถิติประชากรศาสตร์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุข้อมูล ประชากรจากทะเบียน จำแนกตามเพศ อายุ อำเภอ จังหวัด และเขตปกครองล่าสุด (2561) เฉพาะเชียงใหม่ มีประชากร 1,763,742 คน กลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี มีประมาณ 2.5 ล้านคน วัย 15 ปี ราว ๆ 18,424 คน
คณะทำงานสภาเด็กภาคเหนือ (เชียงใหม่) กล่าวว่า จากการร่วมประชาคม ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายชาติพันธุ์, ชมรมนักศึกษาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยทั่วภาคเหนือ พบว่าโอกาสของเด็กในชนบท เด็กในพื้นที่สูง หรือเด็กชายขอบ ยังมีคุณภาพที่แตกต่างกับเด็กในเมืองมาก

นอกจากนั้นโอกาสการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการทำงาน ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อเส้นทางชีวิตของกลุ่มเด็กเหล่านั้น แม้ว่าภาครัฐฯ จะมีการขยายโอกาสการเข้าถึง แต่สถานภาพครอบครัวที่ยากจน ต้องดิ้นรน เพื่อความอยู่รอด อยู่ในภาคการเกษตร ทำให้กลุ่มเด็กในพื้นที่สูง เด็กชายขอบ ไม่อาจก้าวสู่เป้าหมายพื้นฐานได้ทั่วถึง

ผู้บริหารสถานศึกษา ใน อ.สันทราย เชียงใหม่ กล่าวในระหว่างร่วมกิจกรรมวันเด็กปีนี้ว่า เขตการศึกษาท้องถิ่น รวมถึงชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ตระหนักในวงจรเด็ก ตั้งแต่ปฐมวัย จนถึงวัยหนุ่มสาวว่า การศึกษาสำคัญที่จะสร้างอนาคต เปลี่ยนแปลงชีวิต โดยบริบททางสังคมไทย พยายามหยิบยื่นโอกาส ร่วมมือพัฒนากระบวนการศึกษา ปัจจุบันมีการเรียนการสอน แทบจะปูพรมทุกพื้นที่ เด็กดอย จะมีโรงเรียนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะโรงเรียน ตชด., โรงเรียนตามแนวพระราชดำริ, โรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนในความดูแลของ อปท. แต่ที่เป็นปัญหาคือ บางโรงเรียนมีความยากลำบากในการเดินทาง และถ้าอยู่ประจำ บางครอบครัวไม่พร้อม แม้จะมีการสนับสนุนหลาย ๆ ด้านก็ตาม

ดังนั้นคุณภาพชีวิตของเด็ก สิ่งที่ได้รับ ไม่ควรมีมากมายเกือบทุกมิติ เฉพาะวันเด็ก ที่ให้ทั้งอาหาร ความสุข กิจกรรมต่าง ๆ บางพื้นที่เด็กไม่มีโอกาสสัมผัสวันเด็ก ในขณะที่ในเมืองจัดกันมากมาย ควรที่จะส่งเสริม สนับสนุน อย่างต่อเนื่อง ให้วันของเด็ก สามารถเรียนรู้ พัฒนาตามศักยภาพ สอดรับกับภูมิสังคม เช่น บางพื้นที่ขาดแคลนบุคลากรด้านใด ก็สนับสนุน อย่างต่อเนื่อง ให้เด็กเรียนดี เด็กเก่ง เรียนรู้ ศึกษา กลับไปพัฒนาภูมิลำเนา ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบได้วุฒิ แล้วตระเวณหางานทำ ไม่เช่นนั้น ปัญหาเด็ก ปัญหาเดิม ๆ ก็จะวนเวียนแบบนี้ เสวนา หยิบยกประเด็นมาเฉพาะวันเด็ก เสร็จแล้ว ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า

ร่วมแสดงความคิดเห็น