เฮือนโบราณ’หลวงอนุสารสุนทร’

ไปดูเฮือนหลวงอนุสารฯ ในมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ เรือนล้านนาโบราณแท้ ๆ มักมีให้เห็นไม่มากนัก ส่วนใหญ่ถูกรื้อแล้วสร้างเป็นอาคารสมัยขึ้นมาแทน แต่มีเรือนล้านนาหลังหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้ารูปแบบทางสถาปัตยกรรมล้านนา เรือนหลังนี้ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ชื่อ “เรือนอนุสารุสุนทร” สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในวาระครบรอบ 125 ปี หลวงอนุสารสุนทร คหบดีผู้บุกเบิกการค้าในเมืองเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังสร้างขึ้นเพื่อเป็นเรือนคู่แฝดกับ “เรือนคำเที่ยง” ซึ่งอยู่ ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นเรือนอนุสรณ์แด่นางคำเที่ยง ผู้เป็นภริยาของหลวงอนุสารสุนทรและเป็นต้นตระกูล “ชุติมา และ นิมมานเหมินทร์”

เรือนอนุสารสุนทร เป็นเรือนไทยที่ก่อสร้างขึ้นตามลักษณะของเรือนล้านนาภาคเหนือ แสดงให้เห็นลักษณะทางสถาปัตยกรรม วิถีชีวิตและความเชื่อของคนล้านนา อาทิ กาแล ซึ่งเป็นตัวไขว้กันติดไว้อยู่ปลายจั่ว โดยมากนิยมทำลวดลายแกะสลักอย่างสวยงาม นอกจากนั้นในเรือนล้านนายังมีการแบ่งส่วนต่าง ๆ ของบ้านออก เช่น เรือนไฟ มักจะแยกออกจากตัวเรือนภายในประกอบด้วยบริเวณที่ตั้งเตาไฟซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนเส้า 3 ก้อนสำหรับตั้งหม้อข้าว มีการต่อไม้ขึ้นไปด้านบนสำหรับแขวนพริก หอม กระเทียมและอุปกรณ์เครื่องครัวต่าง ๆ เรียกว่า “ข่า”

ส่วนบริเวณมี ‘เติ๋น’ เป็นพื้นที่กึ่งเปิดโล่งใช้ผนังด้านหลังร่วมกับห้องนอน ด้านหน้าเปิดโล่งออกสู่ชาน คนล้านนาใช้เติ๋นเป็นพื้นที่เอนกประสงค์สำหรับพักผ่อนนั่งเล่น ทำงาน หรืออาจใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น สืบชะตาบ้าน รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์ ด้านบนผนังของเติ๋นมีหิ้งบูชาบรรพบุรุษ หรือ หิ้งผีปู่ย่า ประกอบด้วยดอกไม้ ธูปเทียน นอกจากนั้นคนล้านนายังนิยมทำหิ้งสำหรับวางของขลัง ของศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่ออีกด้วย
ด้านบนประตูเข้าห้องนอนนิยมประดับหำยน เชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่บ่งบอกอาณาเขตเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายมิให้เข้าไปภายในบ้านเรือน นอกจากนั้นหำยน ยังเป็นเครื่องประดับเรือนที่ให้ความสวยงามอีกด้วย

บริเวณนอกเรือนอนุสารสุนทร มีร้านน้ำ คนล้านเรียกว่า “ฮ้านน้ำหม้อ” เป็นเรือนเล็กที่สร้างขึ้นเพื่อวางหม้อน้ำสำหรับดื่มกิน สำหรับเรือนอนุสารมีฮ้านน้ำหม้ออยู่ 3 แห่งด้วยกันคือ บนเรือนด้านหน้าและด้านหลังสำหรับเจ้าของบ้านใช้ดื่มกิน ส่วนด้านล่างหน้าเรือนให้สำหรับผู้คนสัญจรไปมาแวะดื่มกิน ซึ่งตามธรรมเนียมนิยมของคนล้านนามักจะแสดงความเอื้ออารีต่อคนทั่วไป ลักษณะอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของเรือนล้านนาทั่วไปก็คือ บ่อน้ำ ส่วนใหญ่จะนิยมขุดบ่อไว้ในบริเวณบ้านสำหรับใช้ล้าง อาบ ซักผ้าและอื่น ๆ เรือนอนุสารสุนทร มีบ่อน้ำขุดไว้ 1 บ่อตั้งอยู่ข้างหอกลอง ถือได้ว่าเป็นเรือนล้านนาที่มีลักษณะสมบูรณ์ทางสถาปัตยกรรมล้านนามากที่สุดหลังหนึ่งในเชียงใหม่

เรือนอนุสารสุนทรสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534 ใช้เงินในการก่อสร้าง ประมาณสามล้านห้าแสนบาท ปัจจุบันเป็นเรือนที่จัดแสดงเครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนารวมทั้งใช้ในกิจกรรมทางวัฒนธรรมของศูนย์วัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมเรือนอนุสารสุนทรและเรื่องราวของดนตรีล้านนาได้ที่เรือนอนุสารสุนทร ในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น