เที่ยวเมือง “Slow City” ที่ลำพูน

หากใครที่มีเวลาว่างในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ด้วยไม่รู้จะออกไปเที่ยวไหน ผมขอแนะนำว่าลองขับรถไปเที่ยวเมืองลำพูน ซึ่งในช่วงเวลานี้ลำพูนได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและพักผ่อนที่เหมาะที่สุดสำหรับผู้รักความสงบ หลีกหนีจากความวุ่นวายของเมืองใหญ่ ปั่นจักรยานเที่ยวชมวิถีชีวิตอันสงบเรียบง่าย แวะไหว้พระสำคัญคู่บ้านคู่เมืองลำพูน อิ่มบุญอุ่นใจ ภายใต้สโลแกน “Slow City”

จังหวัดลำพูน เมืองเล็ก ๆ แต่แฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมล้านนามายาวนานหลายร้อยปี เมืองแห่งนี้มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและเป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งในอาณาจักรล้านนา เมืองลำพูน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1439 ถือได้เป็นเมืองที่ตั้งขึ้นก่อนเมืองอื่นในอาณาจักรล้านนา เมื่อมาเที่ยวลำพูน นักท่องเที่ยวต้องแวะไปนมัสการองค์พระธาตุหริภุญชัย สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองโดยใช้เส้นทางรถจักรยาน เริ่มต้นจากแวะนมัสการอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี ผู้สร้างเมืองลำพูนก่อนปั่นจักรยานไปตามเส้นทางสายตะวันตก ลำพูน-สันป่าตอง ถึงวัดจามเทวี ซึ่งวัดนี้มีภาพวาดประวัติการก่อสร้างนครหริภุญชัยภายในพระวิหารหลวง ซึ่งเป็นวิหารหลังสุดท้ายที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้สร้างไว้ในปี พ.ศ. 2479 ก่อนที่ท่านจะมรณะภาพ ภายในวัดจามเทวีมีเจดีย์ “กู่กุด” หรือ “สุวรรณจังโกฏเจดีย์”

ตำนานกล่าวว่า พระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์ แห่งเมืองหริภุญชัย โปรดให้สร้างพระบรมธาตุสุวรรณจังโกฏ พร้อมทั้งได้สถาปนาวัดจามเทวี ส่วนเอกสารบางแห่งกล่าวว่า พระราชโอรสของพระนางจามเทวี คือ เจ้ามหันตยศและเจ้าอนันตยศ โปรดให้สร้างวัดจามเทวีขึ้นเพื่อถวายพระเพลิงพระศพของพระนางจามเทวี และภายหลังจากถวายพระเพลิงพระศพของพระนางจามเทวีแล้ว จึงโปรดให้สร้างเจดีย์เหลี่ยมมียอดหุ้มด้วยทอง เรียกชื่อว่า “สุวรรณจังโกฏ”

เมื่อออกจากวัดจามเทวีเดินทางต่อไปนมัสการพระรอดหลวงที่วัดมหาวัน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่คนลำพูนให้ความเคารพศรัทธา จากวัดมหาวัน ปั่นจักรยานไปตามถนนเลียบสันเหมืองจนถึงวัดพระคงฤาษี วัดนี้ถือเป็นวัดที่สำคัญอีกวัดหนึ่งของลำพูน เป็นวัดที่ประดิษฐานพระคง ซึ่งเป็นพระเครื่องชื่อดัง

ตำนานเมืองลำพูนกล่าวไว้อีกว่า เมื่อพระนางจามเทวีเสด็จขึ้นครองเมืองหริภุญชัยแล้ว พระองค์จึงได้ชักชวนอาณาประชาราษฏร์ให้ร่วมกันสร้างพระอารามใหญ่น้อยเพื่อถวายแด่พระรัตนตรัย ทั้งยังเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ที่มาจากกรุงละโว้ ซึ่งวัดต่าง ๆ ที่พระนางจามเทวีได้ทรงสร้างขึ้นมีอยู่ 5 วัด ได้แก่ 1. วัดอรัญญิกรัมมาราม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ปัจจุบัน คือ วัดดอนแก้วรวมกับวัดต้นแก้ว 2. วัดมูลการาม อยู่ทางทิศใต้ คือวัดกู่ละมัก (ลมักกัฏฐะ) ปัจจุบัน คือ วัดรมณียาราม 3. วัดอาพัทธาราม อยู่ทางทิศเหนือ ปัจจุบัน คือ วัดพระคงฤาษี 4. วัดมหาลดาราม อยู่ทางทิศใต้ ปัจจุบัน คือ วัดประตูลี้ และ 5. วัดมหาวนาราม อยู่ทางทิศตะวันตก ปัจจุบัน คือ วัดมหาวัน

เมื่อสร้างวัดขึ้นทั้ง 5 วัดแล้ว พระนางจามเทวีก็ได้สร้างพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ทั้ง 5 วัด ส่วนวาสุเทพฤาษีและสุกกทันตฤาษี จึงได้มาปรารภกันว่าเมืองหริภุญชัยนครนี้มีสตรีเป็นเจ้าผู้ครองนคร ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมีข้าศึกมารุกราน ทั้งสองจึงได้ปรึกษาหารือที่จะสร้างเครื่องลางของขลังไว้เพื่อเป็นที่สักการะบูชารักษาบ้านเมืองและเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เหล่าทหารและอาณาประชาราษฏร์ จึงได้ผูกอาถรรพ์ไว้ตรงใจกลางเมืองแล้วจัดหาดินลำพูนทั้ง 4 ทิศ พร้อมด้วยว่านอีกหนึ่งพันชนิดและเกสรดอกไม้มาผสมเข้าด้วยกันกับเวทย์มนต์คาถา จากนั้นคลุกเคล้ากันจนได้ที่จัดสร้างพระพิมพ์ขึ้น 2 ชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่า “พระคง” เพื่อความมั่นคงของนครหริภุญชัยอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “พระรอด” เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็สุมไฟด้วยไม้มะฮกฟ้าหรือป่ารกฟ้า เป็นเวลานาน 7 วัน 7 คืน แล้วจึงนำพระคงที่เผาแล้วไปบรรจุไว้ที่วัดพระคงฤาษี และนำพระรอดไปบรรจุไว้ที่วัดมหาวัน

ออกจากวัดพระคง มุ่งหน้าไปแวะนมัสการ “กู่ช้าง กู่ม้า” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่ง กู่ช้าง หรือศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง โบราณสถานที่ชาวลำพูนให้ความเคารพสักการะ ด้วยความเชื่อที่ว่า “กู่ช้าง” เป็นเจดีย์บรรจุซากช้างพลายคู่บารมีของพระนางจามเทวีที่มีฤทธิ์ในการทำศึก ดังนั้นเมื่อมีเหตุต้องเดินทางไกลชาวบ้านจึงมักมากราบไหว้ขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ช่วยปกป้องคุ้มครอง กระทั่งปัจจุบันกู่ช้างได้กลายมาเป็นที่พึ่งทางใจของชาวลำพูนในการบนบานช่วยให้สอบได้ หรือแม้แต่ขอให้สมหวังในสิ่งที่คิดไว้

ลักษณะของกู่ช้างเป็นสถูปที่มีรูปทรงแปลกแตกต่างไปจากสถูปที่พบเห็นโดยทั่วไปในภาคเหนือ เพราะเป็นสถูปทรงกลมตั้งอยู่บนฐาน 3 ชั้น องค์สถูปมีลักษณะเป็นทรงกระบอกปลายมน (ทรงลอมฟาง) เหนือสถูปขึ้นไปมีแท่นคล้ายบันลังก์ของเจดีย์ ตามประวัติและความเป็นมา กล่าวว่า เมื่อสมัยของพระนางจามเทวีพระองค์ทรงมีช้างคู่บารมีชื่อ “ผู้ก่ำงาเขียว” เป็นช้างที่มีฤทธิเดชมาก เมื่อช้างเชือกนี้หันหน้าไปทางศัตรูก็จะทำให้ศัตรูอ่อนกำลังลงทันที ช้างผู้ก่ำงาเขียวเชือกนี้ มีบทบาทในฐานะช้างศึกของเจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ เมื่อครั้งทรงออกศึกสงครามต้านทัพของหลวงวิรังคะ จนกระทั่งช้างเชือกนี้ล้มลง ซึ่งตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 เหนือ เจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศจึงได้นำสรีระของช้างใส่ลงไปในแพไหลล่องไปตามลำน้ำกวง แต่พระองค์ก็ได้ทรงเปลี่ยนพระทัยที่จะนำสรีระของช้างกลับขึ้นมาฝังบนฝั่ง เพราะว่าช้างเชือกนี้เป็นช้างศักดิ์สิทธิ์คู่บุญบารมีของพระนางจามเทวี หากว่าปล่อยให้ล่องลงไปกับแพแล้ว จะทำให้ประชาชนที่อยู่ทางทิศใต้ลงไปได้รับความเดือดร้อน จึงได้อัญเชิญร่างของช้างลากกลับขึ้นมายังบริเวณท่าน้ำวัดไก่แก้ว แล้วลากมาฝังไว้ที่บริเวณกู่ช้างในปัจจุบัน

จากกู่ช้าง ปั่นจักรยานต่อไปยังวัดพระยืน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองลำพูน วัดพระยืนในอดีตเคยรุ่งเรืองมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของเมืองหริภุญชัย ด้วยวัดพระยืนเป็นวัดสำคัญทางทิศตะวันออกของเมืองมีบ้านเรือนศรัทธาผู้อุปฐากประมาณ 70 หลังคาเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ทำนา พระภิกษุที่จำพรรษาที่วัดนี้ส่วนใหญ่มาจากถิ่นอื่นเพื่อพำนักศึกษาเล่าเรียน

โบราณสถานที่สำคัญในวัดพระยืนได้แก่เจดีย์วัดพระยืน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1606 สมัยพระเจ้าอาทิตยราช ซึ่งพระองค์ได้หล่อพระมหาปฏิมากรทองสัมฤทธิ์สูง 18 ศอกแล้วอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระยืน ต่อมาปี พ.ศ. 1912 พระยากือนา กษัตริย์นครพิงค์เชียงใหม่ ได้นิมนต์พระสุมณะเถระจากเมืองสุโขทัยมาจำพรรษาที่วัดพระยืน จากนั้นจึงได้ก่อสร้างพระพุทธรูปยืนเป็นศิลาแลงขนาดเท่าองค์เดิมขึ้นอีก 3 องค์ และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2447 พระคันธวงศ์เถระ (ครูบาวงศ์) ภายหลังที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูศีลวิลาศ เจ้าคณะจังหวัดลำพูน พร้อมด้วยเจ้าหลวงอินทยงยศ เจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ก่อสร้างสถูปที่พังทลายแล้วแต่องค์พระปฏิมากรสมัยที่พระเจ้าอาทิตยราชและพระสุมณะเถระกับพระยากือนาสร้าง 4 องค์นั้นยังอยู่ การก่อสร้างขึ้นใหม่ได้ก่อหุ้มพระปฏิมากรทั้ง 4 องค์เดิมไว้ภายใน และได้สร้างก่อสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่อีก 4 องค์

ออกจากวัดพระยืนมุ่งหน้าสู่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร พระอารามหลวง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมธาตุเจ้าหริภุญชัย หนึ่งในแปดจอมเจดีย์ที่สำคัญของประเทศ สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช (ราชวงศ์รามัญ) ซึ่งครองเมืองหริภุญชัยราว พ.ศ. 1590 เพื่อให้เป็นหลักฐานแห่งความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา พระเจ้าอาทิตยราชทรงเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา ตอนแรกได้สร้างเป็นมณฑปขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุสูง 3 วา มีซุ้มทั้ง 4 ด้าน ครอบโกศทองคำสูง 3 ศอก บรรจุพระธาตุไว้ภายใน เมื่อมาถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ โปรดให้เสริมพระบรมธาตุสูงขึ้นอีกเป็น 23 วา เอาทองจังโกฏก์ (ทองแดงปนนาคทำเป็นแผ่น) หุ้มตลอดทั่วทั้งองค์ตั้งแต่ฐานถึงยอด สิ้นทองจังโกฏก์ 15,000 แผ่น

ในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว ได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระมหาธาตุนี้อีกได้เรี่ยไรเงินจากชาวบ้านได้ 225,000 บาท เอาไปซื้อทองแดงและทองคำแผ่นหุ้มบุองค์พระเจดีย์ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2348 พระเจ้ากาวิละจึงโปรดให้เจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น) และเจ้าศรีบุญมา ผู้น้องนำบริวาร 1,000 คน และครอบครัวไปตั้งที่เมืองลำพูน ซึ่งเป็นเมืองร้างเนื่องจากถูกพม่าเข้าครอบครองเป็นเวลากว่า 200 ปี จากนั้นจึงได้มีการบูรณะองค์พระธาตุนี้เรื่อยมา

เป็นไงบ้าง จากข้อมูลทั้งหมดลองแวะมาเที่ยวเมืองลำพูน ปั่นจักรยานไปไหว้พระสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองในช่วงวันหยุดสิ้นปีนี้ที่ลำพูน รับรองได้ว่าอิ่มบุญอุ่นใจตามแบบวิถีพุทธ ส่วนใครที่ไม่อยากไปไหนอยากพักผ่อนอยู่กับบ้านก็ขอให้มีความสุขในวันหยุดพักผ่อนกันนะครับ

ร่วมแสดงความคิดเห็น