รวบแฮกเกอร์หนุ่ม! แฮกเฟซบุ๊กก่อนทักแชทกลุ่ม เพื่อหลอกโอนเงิน

รวบแฮกเกอร์หนุ่ม แฮกเฟซบุ๊กก่อนทักแชทกลุ่ม เพื่อหลอกโอนเงิน มีเหยื่อหลงเชื่อกว่า 100 ราย สูญเงินนับแสนบาท ตร.ภาค 5 เตือน ควรตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อนโอนเงิน

เมื่อวันที่ 15 ม.ค.63 นายธนวัฒน์ ศรีทอง อายุ 22 ปี ชาวจังหวัดสมุทรสงคราม ถูกตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตำรวจภูธรภาค 5 ควบคุมตัวมาสอบสวน หลังจับกุมได้บริเวณถนนข้างศาล จ.สมุทรสงคราม ต.แม่กลอง อ.เมืองสมุทรสงคราม

ก่อนหน้านี้ตำรวจได้รับแจ้งจากผู้เสียหายจำนวนมาก ว่าถูกคนร้ายแฮกเข้าไปในเฟซบุ๊กส่วนตัว จากนั้นได้สวมรอยเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กทักแชทหลอกยืมเงินเพื่อนๆ มีผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปให้แฮกเกอร์รายนี้จำนวนมาก หลังรับแจ้งชุดสืบสวนได้ตรวจสอบข้อมูล เพื่อหาเบาะแสของคนร้าย กระทั่งทราบว่าคนร้ายที่ก่อเหตุคือ นายธนวัฒน์ จึงขออนุมัติศาล จ.เชียงใหม่ ออกหมายจับและติดตามจับกุมตัวนายธนวัฒน์ ก่อนนำตัวมาสอบสวน จากการสอบปากคำนายธวัฒน์ สารภาพว่า เป็นผู้ลงมือก่อเหตุแฮกข้อมูลในเฟซบุ๊ก เพื่อหลอกให้ผู้เสียหายหลายรายโอนเงินจริง โดยก่อนหน้านี้เคยถูกจับและติดคุกในคดีฆ่าคนตายและพยายามฆ่า ที่ จ.กาญจนบุรี นาน 2 ปี 6 เดือน และหลังพ้นโทษก็หนีเกณฑ์ทหาร จึงไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง

ที่ผ่านมาขายครีมทางออนไลน์ จนไปรู้จักกับรุ่นพี่คนหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งชักชวนให้ตนเองไปช่วยงานโดยใช้โปรแกรมดาวน์โหลดลิ้งค์ เพื่อแฮกเอาข้อมูลระหัสจากเฟซบุ๊ก หลังตนช่วยคนรุ่นพี่คนนี้มาได้ระยะหนึ่ง จนมีความชำนาญ จึงออกมาทำเองโดยเริ่มแฮกข้อมูลเฟซบุ๊ก เพื่อหลอกยืมเงินเหยื่อ ตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2562 โดยหลอกผู้เสียหายมาแล้ว ไม่ต่ำกว่า 100 ราย ได้เงินมาแล้วประมาณ 1 แสนบาท

นายธนวัฒน์ อธิบายวิธีการแฮกเฟซบุ๊กเพื่อหลอกยืมเงินว่า จะดาวน์โหลดโปรแกรมแฮกเฟซบุ๊กจากอินเตอร์เน็ต จากนั้นจะส่งลิ้งค์ไปให้ เมื่อผู้เสียหายกดรับและเข้าไปก็จะถูกดึงระหัสมา เมื่อเข้าเฟซบุ๊กของผู้เสียหายได้แล้ว ก็จะเข้าไปทักแชทคุยกับเพื่อนในเฟซบุ๊กเพื่อขอยืมเงิน โดยจะขอหยิบยืมเงินในจำนวนหลักพันจนถึงหลักหมื่น เพื่อไม่ให้เหยื่อเกิดความสงสัย จากนั้นจะให้หรือโอนเงินมายังบัญชีของตนเอง และบัญชีของเพื่อนอีกคน

ด้านผู้หญิงผู้เสียหายรายหนึ่ง เผยว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2562 ขณะที่ตนทำงานพี่สาวได้ทักแชทในเฟซบุ๊ก มาขอยืมเงินเพื่อจ่ายค่าสินค้า เมื่อตนโทรศัพท์กลับไปเพื่อสอบถามพี่สาว แต่พี่สาวไม่รับสายจึงคิดว่าพี่สาวยุ่งอยู่ แต่ก็ได้โอนเงินไปให้จำนวน 12,700 บาท ตามที่พี่สาวขอยืม กระทั่งสามารถติดต่อพี่สาวได้จึงทราบว่า พี่สาวไม่ได้ทักแชทมายืมเงิน และเฟซบุ๊กก็ใช้งานไม่ได้เพราะถูกแฮก เมื่อรู้ว่าถูกมิจฉาชีพหลอก จึงรีบนำหลักฐานเข้าแจ้งความ เพื่อให้ตำรวจช่วยติดตามคนร้ายมาดำเนินคดีโดยเร็ว

พร้อมฝากเตือนประชาชนทั่วไป ว่าหากมีเพื่อนส่งข้อความมายืมเงิน ควรตรวจสอบย้อนกลับไปว่าเป็นเพื่อนจริงหรือไม่ และควรสังเกตข้อความที่พิมพ์มาว่า ใช่เพื่อนหรือญาติของเราจริงหรือไม่ เพราะจะมีคำพูด หรือข้อความที่ใช้พิมพ์โต้ตอบ ที่คุ้นเคยกันอยู่เป็นจุดสังเกต เพื่อคัดกรองว่าคนที่คุยกับเราใช่เพื่อนหรือมิจฉาชีพ ขณะที่ พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวว่า จากการสอบสวนผู้ต้องหาว่าก่อเหตุลักษณะนี้มานานแล้ว โดยอาศัยการแฮกเฟซบุ๊กของผู้เสียหาย เพื่อหลอกยืมเงินเหยื่ออีกรายที่เป็นเพื่อน จึงขอฝากเตือนประชาชนอย่างหลงเชื่อ หากเจอกรณีนี้ อย่ารีบร้อนโอนเงิน ให้ตรวจสอบให้ดีก่อนเนื่องจากว่าที่ผ่านมา มีประชาชนถูกหลอกจากมิจฉาชีพทางโซเชียลจำนวนมาก รวมทั้งควรหมั่นเปลี่ยนระหัสเฟซบุ๊ก หรือ ตั้งระหัสตรวจสอบไว้ 2 ชั้น เพื่อความปลอดภัย

เบื้องต้นตำรวจตั้งข้อหา”ร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์โดยแสดงตนเป็นผู้อื่น และทุจริตโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประกาศที่จะน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”กับนายธนวัฒน์ ก่อนจะขยายผลหาเครือข่ายที่ร่วมขบวนการอีก 2 ราย เพิ่มเติมต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น