วิกฤตภัยแล้ง! ที่มาเยือนเชียงใหม่ก่อนเวลาอันควร

สถานการณ์ภัยแล้งจังหวัดเชียงใหม่ มาไวกว่าทุกปี แค่เดือนมกกราคม ก็เริ่มขาดแคลนน้ำ ในบางพื้นที่ จนต้องวางแผนรับมืออย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ ผลจากสภาพอากาศที่แปรปรวน อย่างเช่น เมื่อปลายปี 2562 จากการเกิดพายุลูกเห็บ ถล่มเชียงใหม่ จนทำให้ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างมาก และ ภัยธรรมชาติเหล่านี้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม

สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ได้เตรียมการรับสถานการณ์ภัยแล้ง ด้านการเกษตร ปี 2563 โดยแจ้งให้สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง และให้ประชาชนเตรียมการป้องกันพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีพืชผลมูลค่าสูง และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ….

พร้อมทั้งให้ทุกพื้นที่ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกให้เป็นปัจจุบัน เพื่อให้ฐานข้อมูลนั้นเป็นปัจจุบัน และให้ความช่วยเหลือต่อไป และให้ประเมินผลกระทบด้านการเกษตร ทั้งนี้เมื่อเกิดภัยแล้งให้เร่งประเมินความเสียหาย และช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์และแจ้งสำนักงานเกษตรจังหวัด อย่างเร่งด่วน

จังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าเป็นหัวเมืองสำคัญทางภาคเหนือ ของประเทศไทย ในด้านการจัดเก็บรายได้ เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ ถือว่าเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ระดับประเทศ ดังนั้น สถานการณ์ภัยแล้ง  ในเขตพื้นที่จึงไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ ภาคการเกษตร เช่น สวนมะม่วง สวนส้ม สวนลิ้นจี่ สวนลำใยและนาข้าว แต่ส่งผลกระทบโดยรวมไปจนถึง ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และ เพื่อการอุปโภค-บริโภค ของประชนในเขตพื้นที่ และในแถบจังหวัดใกล้เคียง 

เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยหลักในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การใช้น้ำเพื่อ การทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว เช่น น้ำตก  ล่องแพ และเดินป่า รวมถึงการน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา ป้อนเข้าสู่ ธุรกิจที่พักและครัวเรือน หรือ เพื่ออุตสาหกรรมการผลิต ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึง อุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ ต่างต้องพึ่งพา “น้ำ” เป็นปัจจัยหลัก 

จากการเปิดเผยข้อมูลสำนักงานชลประทานที่ 1 สถานการณ์น้ำในเขตความรับผิดชอบ ณ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ ปริมาณน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำ 149.196 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 56.30% เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำ 75.300 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28.63% อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 12 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 29 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 34% อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 117 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 39 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 59% และฝายแม่แตง มีปริมาณน้ำไหลเข้าฝาย 4.687 ลบ.ม.ต่อวินาที

สถานการณ์ดังกล่าว ยังมีแนวโน้มอีกว่า ในปี 2563 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนพฤษภาคม 2563 ปริมาณน้ำฝนจะต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 5-10 ซึ่งปัจจุบันปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ภาพรวมในปี 2563 จะต่ำกว่าปี 2562 กว่าครึ่งหนึ่ง 

ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำ คือ จะมีการส่งน้ำให้สำหรับกิจกรรมการอุปโภคบริโภค และการเกษตร เฉพาะพื้นที่ปลูกไม้ผล-ไม้ยืนต้น รวม 19 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อย, การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีแผนส่งน้ำปริมาณ 115 ล้าน ลบ.ม. ให้พื้นที่ 2 ส่วน 

ประกอบด้วย พื้นที่โครงการฯ 45 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่การเกษตรลุ่มน้ำปิงตอนบนในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน 70 ล้าน ลบ.ม. โดยส่งน้ำตามแผน 25 รอบเวณ เริ่มรอบเวรแรก 11 มกราคม 2563 ถึง 1 กรกฎาคม 2563 และการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ได้วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนของแต่ละโครง หรือการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำเชิงเดี่ยว

กรณีที่ประสบภาวะวิกฤติภัยแล้งสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ดำเนินการโครงการแก้มลิงที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการฯ แม่แตง เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรอง จำนวน 10 แห่ง ความจุเก็บกักรวม 5.296 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันได้ผันน้ำไปเก็บไว้แล้วปริมาณ 2.646 ล้าน ลบ.ม.

ในขนาดที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยถึงพื้นที่การเกษตรที่มีโอกาสเกิดความแห้งแล้ง ว่ามีทั้งด้านพืชและด้านปศุสัตว์ ซึ่งด้านพืชมีจำนวน 21 อำเภอ 162 ตำบล เกษตรกร 39,717 ราย รวมพื้นที่การเกษตร 221,844.36 ไร่ แยกเป็นข้าว 53,882 ไร่ พืชไร่ 15,024.50 ไร่ พืชผัก 30,433.63 ไร่ และไม้ผล 122,504.23 ไร่

ในส่วนการจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ แก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/63 ที่สำนักงานชลประทานที่ 1 และจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาเรื่องน้ำ บริเวณฝาย/ประตูระบายน้ำ ตลอดลำน้ำปิงในเขต จ.เชียงใหม่และลำพูน จำนวน 6 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนที่ใช้น้ำจากแม่น้ำปิงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยจะบริหารจัดการน้ำช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2563

ผลกระทบต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจในช่วงภัยแล้ง อาจมีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถประเมินได้ สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงกับภาคเกษตรของไทย แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ ที่อาจจะลากยาว และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อน ซึ่งจะใช้เป็นน้ำเพื่อทำการเกษตร  

โดยจะกระทบต่อพืชเกษตรหลัก ที่มีฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง  ยิ่งทำให้ตัวเลขมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมีความเสียหายต่อเนื่อง  และกระทบกับรายได้เกษตร ซึ่งจะทำให้ฉุดกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำ รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจขนาดเล็ก

การหาเทคโนโลยี และวิธีการต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลืออาจจะมองดูว่าช้าไปในการดำเนินการทั้งในเรื่องของความล่าช้า ของรัฐที่จะต้องมีกระบวนการขั้นตอน กว่าจะเสร็จสิ้น ป่านนั้นคงสิ้นลมกันพอดี ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์เองก็ควรขยับตัวมาสิ่งเสริมและดูแลเกษตรกร บ้าง โดยมองจากมุมมองของความจำเป็นสำหรับเกษตรกร ได้ด้านมาตรการด้านการส่งออก ภาษี และแรงงานไม่ใช่เอาแต่นั่งตากแอร์แล้วรอรับแต่ข้อมูลที่ ไม่ทันต่อเหตุการณ์ รวมถึงความไม่ชัดเจนในเรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้อง จนส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการผลิต

จริง ๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเร่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือดูแล เพราะภาคเกษตรถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญและมีน้ำหนักอย่างมากต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่ผ่านมาภาคเกษตรได้รับผลกระทบอย่างมากแล้ว จากปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายให้ชะลอตัวลงด้วย จนนำไปสู่หลายๆ ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้นอกระบบ หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ อาจส่งผลเสียต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้

ผลผลิตทางการเกษตรที่น้อยลงในเขตพื้นที่ อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ปรับตัวลดลงเช่นกัน ส่งผลให้เกษตรกรและผู้ประกอบสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้อง เช่น ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช และอุปกรณ์ทางการเกษตรต่าง ๆ มีรายได้ลดลงตาม อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวน่าจะมีไม่มากนัก หากฝนตกตามช่วงเวลาที่คาดการณ์ไว้ แต่ถ้าฝนไม่ตกตามที่คาดการณ์ไว้ จะส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรงต่อภาคการเกษตร เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรจะลดน้อยลงมาก ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีความเสี่ยงจะปรับตัวลดลง

พืชบางชนิดอาจมีราคาปรับตัวที่สูงขึ้น จากผลผลิตที่ลดลง และนั้นอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ต้องใช้วัตถุดิบ ต้นทุนก็จะเพิ่มขึ้น หากผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุน นั้นอาจจะส่งผลให้ผลประกอบการลดลงได้ 

ในกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในช่วงต้นฤดูฝนของเดือน พ.ค. – มิ.ย. 2562 ฝนมาช้ากว่าปกติ อีกทั้งปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาก็น้อยกว่าค่าปกติ ซึ่งเกิดจากการที่โลกกำลังเผชิญปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน ทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติ และมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติ 

ปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญหลายแห่งที่อยู่ในระดับต่ำ เกิดความวิตกกังวลว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรหรือไม่ ในเวลาต่อมาภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่ประเทศไทย กลับกลายเป็นอุทกภัยที่เกิดจากการเผชิญกับพายุโซนร้อนโพดุล และตามมาด้วยพายุโซนร้อนคาจิกิ ที่เกิดขึ้นอย่างหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า แม้ว่าพื้นที่เกษตรบางส่วนอาจได้รับผลดีจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นจากพายุที่เข้ามา แต่ในบางพื้นที่ เช่น อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด ได้รับความเสียหายอย่างมากจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้น และสถานการณ์ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลต้องออกประกาศยกระดับการจัดการสาธารณภัยในพื้นที่สี่จังหวัดดังกล่าวให้เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ระดับสาม ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเมื่อครั้งเกิดอุทกภัยรุนแรงทางภาคใต้ในช่วง ธ.ค. 59 – ม.ค. 60

นี่เป็นเพียง ข้อมูลเล็กน้อยของผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและภัยธรรมชาติที่กระทบต่อเนื่องทั้งในมุมของเกษตรกรผู้ผลิตสินค้า และในมุมของประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้บริโภค ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ของสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น 

แม้ว่าภาครัฐจะออกมาช่วยเหลือเกษตรกรหรือผู้ประสบภัยในรูปแบบของการให้เงินช่วยเหลือ แต่การช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้นเท่านั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างมีระบบและยั่งยืนนั้นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงการจัดสรรให้เหมาะสมเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูกในภาคเกษตร โดยต้องมีการวางแผนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ในขนาดที่ เราเป็นกังวลเรื่อง ปากท้อง และโทษทุกอย่างที่ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้ง แต่เราไม่เคยเลยที่จะหันกลับมามอง ว่า ความแห้งแล้วเกิดจากอะไร และไม่เคยที่จะช่วยกันอย่างจริงจัง ในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่า อย่างจริงจังสักที 

ผู้เขียนเป็นคนที่ชอบเดินทาง และถ่ายภาพ ได้กลับไปถ่ายภาพเส้นทางสีเขียว เส้นทาง บ่อน้ำมัน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ไป อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย อีกครั้ง เมื่อ ต้นปี 63  ร้องเฮ้ย!!!!  ทำไมมีแต่ภูเขาหัวโล้น แล้วอย่างนี้จะโทษใครดีละครับเจ้านาย………….

โดย..บ่าวหัวเสือ

ร่วมแสดงความคิดเห็น