สร้างทางล่าช้า ถูกขึ้นบัญชีดำ

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากประชาชน ผู้ใช้เส้นทางสัญจร ทล.118 สายเชียงใหม่-เชียงราย และ ทล.11 สายเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง ว่าเห็นด้วยกับมาตรการที่ ก.คมนาคม จะดำเนินการกลุ่มรับเหมาสร้างทาง ประมูลรับงานถนน ทั้งในส่วนประมูลงานจากทางหลวง (ทล.) และทางหลวงชนบท (ทช.) ซึ่งทำงานล่าช้าหรือทิ้งงาน ทั้งนี้ที่ปรึกษา ก.คมนาคม ยืนยันว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มอบนโยบายให้ ทช. และทล.เพิ่มความเข้มงวดการกำกับดูแลงานซ่อมบำรุงของผู้รับเหมา ที่อยู่ในระยะค้ำประกันตามสัญญา เพราะถนนที่ชำรุดจะส่งผลทำให้เกิดอุบัติเหตุง่าย หากผู้รับเหมาไม่ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล นำเงินค้ำประกันมาเร่งซ่อมเอง พร้อมขึ้นบัญชีดำ ห้ามประมูลงานรัฐหลังจาก พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 เรียบร้อยตามขั้นตอน ให้เร่งจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จใน 31 ส.ค.นี้ และจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2564 ต่อไป

จากการตรวจสอบกับหน่วยงานในพื้นที่เชียงใหม่ (ทช.) เปิดเผยว่าระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง ผู้รับเหมาต้องรับประกันงานซ่อมบำรุงรักษาถนน 2 ปีหลังส่งมอบ ซึ่งจะมีการตรวจสภาพทุก 3 เดือน หากชำรุด เสียหาย (ยกเว้นจากเหตุภัยพิบัติ น้ำท่วม) เมื่อรับแจ้งแล้ว ผู้รับเหมาต้องซ่อมแซมภายใน 30 วัน หากไม่ปฏิบัติตามจะขึ้นบัญชีดำ ตัดสิทธิ์ยื่นประกวดราคา กลุ่มผู้รับเหมาที่มายื่นประมูลงาน ในศูนย์ประมูลกลางของเชียงใหม่ เล่าว่า เท่าที่เห็นส่วนหนึ่งก็มี ที่เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตาม พอถูกขึ้นบัญชีดำว่าทิ้งงานถูกตัดสิทธิ์ยื่นประกวดราคา ก็ไปจดแจ้งเปลี่ยนกิจการ ใช้เทคนิคลูกเล่นทางพาณิชย์ เพื่อทำธุรกรรมงานรับเหมา

วงการนี้ แต่ละพื้นที่จะทราบกันดีว่า รายใด กลุ่มไหนบ้าง ทำให้วงการเสียชื่อเสียงได้รับผลกระทบ ที่ผ่าน ๆ มา หน่วยงานราชการ จะนำเงินค้ำประกันงาน 5% ของมูลค่างานดำเนินการซ่อมบำรุง ปัจจุบันมีผู้รับเหมาขึ้นทะเบียนของ ทช.ประมาณ 400 ราย แต่รายใหญ่ ในพื้นที่ทั้งของ ทช. งานทล.นั้นคงยากจะเข้าไปจัดการ ด้วยสายสัมพันธ์กลุ่มธุรกิจ กับระดับนโยบายสลับซับซ้อน ผู้ปฏิบัติการในพื้นที่รับรู้ ทำอะไรมากไม่ได้ ภาคเหนือหลาย ๆ สาย สร้างล่าช้าก็เห็น ๆ กันอยู่

ในปีงบประมาณ 2563 ทช.ได้รับงบกว่า 47,472 ล้านบาท มีแผนงานต่าง ๆ เช่น พัฒนาถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต, ถนนสนับสนุนการท่องเที่ยว, ถนนเพื่อการแก้ไขปัญหาจราจรในปริมณฑลและภูมิภาค, ถนนเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่ง, ถนนเพื่อสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เป็นต้น และมีการเสนอคำของบรายจ่ายประจำปี 2564 ประมาณ 95,000 ล้านบาท มีโครงการสำคัญ ๆ เช่น ถนนสายแยก ทล.11 (ช่วงลำปาง-เชียงใหม่ กม.ที่ 3+800)-ทล.1 (กม.ที่ 712+300) อ.เมือง จ.ลำปาง, ถนนสายแยก ทล.1020-บ้านกิ่วแก้ว อ.เทิง, อ.จุน จ.เชียงราย, พะเยา เป็นต้น

นอกจากนั้น ก.คมนาคม ยังสั่งการให้ ทช. เตรียมความพร้อมรองรับการปรับเพิ่มความเร็วสูงสุด 120 กม./ชม. พร้อมพิจารณากำหนดให้ใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 90 กม./ชม.ในช่องขวาสุด เพื่อเป็นการป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณา ก.พ. 2563 นี้ ก่อนจะออกประกาศกฎกระทรวง และบังคับใช้

อีกทั้งสั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) มอบหมายหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ สำรวจจุดเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แก้ไขจุดเสี่ยง เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2563 และจะนำร่องสายทางสู่เมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ เช่น เชียงใหม่ กับมาตรการกำหนดความเร็ว ที่เหมาะสมในแต่ละช่องจราจร ให้ช่องขวาสุดเป็นช่องทางที่ให้รถยนต์ใช้ความเร็วสูงสุดได้ เพราะจากข้อมูล สถิติที่ผ่าน ๆ มา คจร. พบว่าการกำหนดช่วงความเร็วแต่ละช่องจราจร เป็นช่วงสูงสุด-ต่ำสุด จะลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุชนท้าย จากความเร็วที่แตกต่าง การเปลี่ยนช่องจราจรเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงเป็นลำดับที่ 2 การใช้ความเร็วที่เหมาะสมแต่ละช่องจราจรกำหนด จะช่วยลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ 2563ได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น