หม้อ “ปูรูณะฆตะ” คติธรรมของพุทธศาสนา

ศิลปะ คือ การสร้างความวิจิตร ซึ่งก่อขึ้นด้วยเหตุผลทางด้านอารมณ์และจุดมุ่งหมายของศิลปิน ผู้ต้องการที่จะส่ง “สาร” ไปยังเหล่าบรรดาผู้เสพงานศิลป์ให้รับรู้และเข้าใจตรงกัน เป็นศาสตร์แห่งความละเอียดอ่อนที่ไม่สามารถยึดติดกับสิ่งชั่งวัด เปรียบเทียบคุณค่ากันให้เป็นผลที่ตายตัวอย่างศาสตร์อื่น ๆ เช่น ตรรกศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์ได้ แต่การให้คุณค่าแก่งานศิลป์แต่ละอย่างขึ้นอยู่กับผลงานด้านจิตใจที่เกิดขึ้นหลังจากเราได้เสพความงามจากศิลปะนั้น ๆ

ศิลปะในยุคโบราณส่วนใหญ่ในโลกนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อรับใช้ศาสนาในประเทศไทยก็เช่นกัน ศิลปินบรรพบุรุษของเราใช้ชีวิตส่วนมากในการสร้างงานศิลป์ โดยมีกรอบความคิดเกี่ยวเนื่องกับหลักศาสนาเพียงแต่คติ และวิธีการใช้ชีวิตของแต่ละสังคมจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบลักษณะของศิลปะให้แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่าง ลายกนกของทางสกุลช่างเชียงใหม่กับลายกนกของสกุลช่างรัตนโกสินทร์ แม้จะมีคุณค่าทางเป็นศิลป์ที่ไม่ด้อยค่าไปกว่ากันเลย แต่ก็ยังคงมีความแตกต่างกันออกไปตามรูปแบบของสกุลช่างนั้น ๆ โดยลายกนกของทางสกุลช่างรัตนโกสินทร์มีลักษณะคล้ายเปลวไฟที่กำลังพริ้วไหวมีการประดับประดาให้แลดูวิจิตร เส้นคมตวัด ในขณะที่ลายกนกของช่างทางเหนือจะมีลายเส้นที่อ่อนช้อย อ่อนหวานกว่ามาก จะเห็นได้ว่าลายเส้นและศิลปะล้านนาส่วนใหญ่จะมีความอ่อนหวาน เรียบง่ายอยู่ในตัวเองและมีวิวัฒนาการเป็นของตนเอง นับแต่เริ่มแรก การใช้สีสมัยแรกที่ก่อนจะรับเอาวัฒนธรรมจากภาคกลางมา ทางเหนือมีการใช้สีสันที่ไม่จัดจ้านนัก แต่เมื่อรับเอาศิลปะจากภาคกลางมาในสมัยรัชกาลที่ 5 สีที่ใช้ก็มีความสด จัดจ้านขึ้น เพราะศิลปะเป็นศาสตร์แห่งการประยุกต์ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แต่ในสมัยปัจจุบันที่พี่น้องชาวสุวรรณภูมิได้รับเอาวิธีคิดและรูปแบบการใช้ชีวิตมาจากการพัฒนาของกระแสหลักมาเร็วเกินไปและมากเกินไป ทำให้พวกเรากันเองได้พากันลืมเลือนศาสตร์ต่าง ๆ ที่สืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน จากรุ่นสู่รุ่นที่เคยเป็น ศิลปะล้านนาก็กำลังตกอยู่ในสภาวะที่กำลังถูกลืมเช่นเดียวกัน เพราะขาดคนรุ่นใหม่ที่จะมาทำความเข้าใจกับปรัชญาที่แสนจะละเอียดอ่อนของศิลปะล้านนานี้

ที่ประตูวัดพระธาตุลำปางหลวง มีลวดลายเป็นรูปเถาดอกไม้อยู่ในแจกันมีนกตัวเล็ก ๆ บินอยู่รอบ มีกี่คนที่รู้ว่าภาพลายเส้นสีทองบนประตูแดงนี้ ใช้การวาดด้วยเทคนิคการปิดทองลงบนพื้นชาด มีกี่คนจะรู้ถึงความเก่าแก่นับร้อย ๆ ปี และมีกี่คนที่จะรู้ว่า ลวดลายบนประตูนี้มีชื่อว่า “ปูรูณะฆตะ” คนที่รู้ว่านี่คือลายปูรูณะฆตะ มีความหมายซ่อนอยู่ “ฆตะ” แปลว่า “หม้อ” ลวดลายปูรูณะฆตะ เป็นลวดลายซึ่งแสดงให้เห็นถึงธรรม การมีกิ่งดอกไม้ห้ากิ่ง ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า 5 องค์ ตามความเชื่อของศาสนาพุทธ ดอกไม้แทนความหมายเปรียบเทียบกับ “พุทธ” ของพระพุทธองค์ที่หอมหวานเท่าเทียมกัน ดอกบัวใหญ่ตรงใจกลางหม้อ ดอกไม้แทน โลกุตระ นกที่บินอยู่รอบหม้อดอกไม้เปรียบเสมือน “สัตว์โลก” ที่เข้ามาพึ่งพิงพระพุทธศาสนา หม้อดอกไม้ หรือปูรูณฆตะ จึงเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาได้ นับเป็นลวดลายเก่าแก่ที่มีมานาน และได้รับการถ่ายทอดมาจากศิลปะสมัยคุปตะในอินเดีย ปูรูณฆตะ จึงเป็นหนึ่งในของมงคลจำนวน 108 อย่างตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ทั้งหมดนี้มีเพียงกี่คนที่จะสามารถเสพได้ถึงความงามได้ครบอรรถรสของ ปูรูณฆตะ ที่คนโบราณต้องการจะสื่อความหมาย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของศิลปะอันทรงคุณค่าของล้านนาที่กำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลาอย่างน่าเสียดาย ถ้าพวกเราเจ้าของภูมิปัญญา เจ้าของความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษไม่รับสืบทอดดูแล ไม่นับถึงความงามของภาษาพูดและตัวอักษรล้านนา ที่นับวันก็จะหาคนอ่านออกเขียนได้น้อยลงไปทุกที ทั้งที่สามารถจะพาเราไปทำความเข้าใจสารต่าง ๆ จากคนรุ่นเก่าได้ หรือแม้แต่การทำเครื่องเขิน เครื่องเงินแบบโบราณที่หาคนเรียนรู้งานเก่าจากพ่อครู แม่ครูได้ยากเต็มที การฟ้อนแบบล้านนา เช่น ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนดาบ ที่ปัจจุบันหาชมได้เพียงไม่กี่แห่งตามโรงแรมซึ่งก็จัดให้ชาวต่างประเทศดู แต่คนเมืองอย่างเราก็ค่อยจะมีโอกาสได้ดูนอกจากในงานเทศกาลสำคัญจริง ๆ เท่านั้น

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น