ไหว้พระ “วัดพระธาตุช่อแฮ” เมืองแพร่

เวียงโกศัย หรือ เมืองแพร่ เมืองในแวดล้อมของขุนเขาที่เป็นหนึ่งในหัวเมืองสำคัญของล้านนามาตั้งแต่อดีตกาล เรื่องราวของเมืองนี้มีทั้งตำนานและประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องยาวนานน่าสนใจ ตลอดจนความมั่งคั่งทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่เจริญก้าวหน้ามาหลายยุคหลายสมัย
บนพื้นฐานของความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร และทุ่งราบดูเหมือนว่าจะไม่มีวันหมดสิ้นไปจากพื้นแผ่นดินนี้ แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับร้อยปีที่เมืองแพร่ได้เผชิญศึกสงคราม ความเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง การกบฏและการปฏิวัติ แม้กระทั่งความรุนแรงจากการปกครองจากส่วนกลางและการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการค้าไม้สัก แต่คนเมืองแพร่ก็ยังคงยึดมั่นในความเป็นเมืองแห่งศาสนาและรักษาวัฒนธรรมของตนเองเอาไว้ไม่ขาดสาย

ความเป็นคนเมืองของชาวแพร่ยังไม่จางหายไป สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้สะท้อนออกมาในรูปธรรมที่สามารถมองเห็นและสัมผัสได้อย่างชัดเจน ผ่านงานศิลปกรรมบนศาสนสถานของพวกเขา
งานศิลปกรรมของชาวแพร่นั้น ก็ดุจเดียวกับงานศิลปะล้านนาทั่วไป คือเป็นศิลปะล้านนาผสมกับศิลปะไทยใหญ่ หรือ ศิลปะพม่า อันเนื่องมาจากการอยู่ใกล้ชิดติดกันของอาณาจักรล้านนาและพม่า ศิลปะพม่าสวย ๆ ในเมืองนี้หาชมได้จากวัดสำคัญสองแห่งด้วยกันคือที่ วัดจอมสวรรค์และวัดสระบ่อแก้ว โดยเฉพาะที่วัดจอมสวรรค์นั้น ศิลปะการก่อสร้างทั้งภายนอกและภายในยังคงลักษณะความเป็นวัดพม่าไว้อย่างชัดเจน ภายในพระอุโบสถปรากฏงานฝีมือการฉลุไม้และประดับกระจกซึ่งเป็นจุดเด่นที่สุดของศิลปะพม่า
นอกจากการฉลุไม้และประดับกระจกอันงดงามแล้ว ที่วัดจอมสวรรค์ยังเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์โบราณที่ทำจากงาช้าง โดยนำงาช้างมาบดละเอียดแล้วแผ่ออกเป็นแผ่น เป็นศิลปวัตถุสำคัญคู่บ้านคู่เมืองแพร่ นอกจากศิลปะพม่าที่กระจายอยู่ตามวัดต่าง ๆ ในเมืองแพร่แล้วยังมีศิลปะแบบล้านนาแท้ๆอีกหลายแห่งด้วยกัน ที่สำคัญที่สุดก็คือ วัดพระธาตุช่อแฮวรวิหาร ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ โดยมีองค์พระธาตุช่อแฮเป็นเสมือนศูนย์กลางของความเคารพศรัทธาของชาวเมืองแพร่ทั้งมวล

ตามตำนานโบราณกล่าวถึงการก่อสร้างพระธาตุช่อแฮว่า “พระมหาธรรมราชาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย ทรงโปรดฯพระราชทานพระบรมธาตุให้กับขุนลัวะอ้ายก้อม ให้นำไปบรรจุไว้ในพระธาตุเจดีย์ที่คนทั้งหลายกราบไหว้แทนพระพุทธองค์ ขุนลัวะอ้ายก้อมจึงได้ชักชวนหัวเมืองต่าง ๆ ให้มาร่วมสร้างพระเจดีย์ โดยช่วยกันสำรวจสถานที่จะสร้าง เมื่อขุนลัวะอ้ายก้อมมาถึงบริเวณเชิงดอยโกสิษยชัด เห็นเป็นทำเลดีเหมาะสมจึงได้ให้สร้างพระเจดีย์ขึ้น ขุนลัวะอ้ายก้อมเอาผอบบรรจุพระบรมธาตุบรรจุไว้ในสิงห์ทองคำ สร้างแท่นที่ตั้งผอบด้วยเงินและทอง แล้วตั้งสิงห์ทองคำไว้แล้วจึงโบกปูนทับไว้อีกชั้นหนึ่ง…”
องค์พระธาตุช่อแฮมีลักษณะเป็นเจดีย์รูปแปดเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะแบบเชียงแสนบุด้วยทองดอกบวบ สูง 33 เมตร ฐานกว้างด้านละ 10 เมตร นับเป็นเจดีย์ที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่งของล้านนา ใกล้กับพระธาตุช่อแฮ มีเจดีย์อีกองค์หนึ่งสร้างขึ้นในลักษณะที่คล้ายกันคือ พระธาตุจอมแจ้ง เป็นปูชนียสถานสำคัญที่มีประวัติความเป็นมาคู่กับพระธาตุช่อแฮ ตามตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท เช่นเดียวกับพระธาตุช่อแฮ เชื่อว่าภายในบรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าเอาไว้ ส่วนชื่อของพระธาตุจอมแจ้งนั้นมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดมนุษย์ในบริเวณแห่งนี้และได้เสด็จมาถึงในเวลารุ่งเช้า ชาวบ้านจึงเรียกพระธาตุแห่งนี้ว่า “พระธาตุจอมแจ้ง” (แจ้ง ในภาษาล้านนาแปลว่า รุ่งเช้า)

ที่เมืองแพร่ยังมีวัดสำคัญอีกวัดหนึ่งคือ วัดหลวง เป็นวัดเก่าแก่ที่สุดของจังหวัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อม ๆ กับเมืองแพร่ สิ่งสำคัญที่สุดในวัดคือ “พระธาตุหลวงไชยช้างค้ำ” เป็นเจดีย์ศิลปะเชียงแสน นอกจากนั้นภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคู่เมืองแพร่คือ พระเจ้าแสนหลวง และ พระเจ้าแสนทอง พระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 500 ปี ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดหลวง เช่นเดียวกับที่วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร ก็เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธโกศัยศิริชัยมหาศากยมุณี พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัด นอกจากนั้นยังเป็นที่เก็บรักษาพระคัมภีร์โบราณ ปักด้ายไหม พระคัมภีร์ที่ตัวอักษรธรรมประดิษฐ์ขึ้นจากการปักด้ายไหมลงเป็นตัวอักขระอย่างมานะอุตสาหะ นับเป็นศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งของชาวเมืองแพร่
นอกจากวัดต่าง ๆ ที่ยิ่งใหญ่งดงามของเมืองแพร่ที่กล่าวมาแล้ว เมืองแพร่ก็ยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่แสดงออกถึงความร่ำรวยทางวัฒนธรรม หากใครที่มีโอกาสแวะเวียนไปยังจังหวัดแพร่ ลองหาเวลาเข้าไปชมความสวยงามแห่งศิลปกรรมพม่าผสมล้านนาของวัดต่างในจังหวัดแพร่ดูบ้าง

วัดพระธาตุช่อแฮ
วัดพระธาตุจอมแจ้ง

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น