ที่นาเศรษฐีเชียงใหม่ ไม่สนแล้ง กระหน่ำทำนาปรังเพียบ

กลุ่มทำนา บ้านป่าข่อย ต.สันผีเสื้อ อ.เมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า เนื่องจากราคาข้าวในฤดูกาลนี้ น่าจะได้ราคาดี เพราะหลายแหล่งปลูกข้าวในบ้านเรา เผชิญวิกฤติภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำทำนาปรัง ดังนั้นกลุ่มทำนา ในย่านนี้จึงตัดสินใจทำนาปรัง แม้จะมีคำแนะนำ มีประกาศให้ระวังความเสี่ยงจากการทำนา สำหรับสภาพพื้นที่ ตามแปลงนาติดถนนทางหลวง หมายเลข 121 ติดอันดับทำเลทองทองของเชียงใหม่ เป็นย่านที่กำลังมีการขยายช่องทางสัญจร จาก 2 เลน เป็น 4 เลน ทำให้ราคาที่ดินพุ่งสูง มีโครงการพัฒนาที่ดิน มีหมู่บ้านจัดสรร การลงทุนสร้างอาคารพาณิชย์เกิดขึ้นตลอดรายทางอย่างต่อเนื่อง

“ลุงศักดิ์ ” (นามสมมติ) ชาวนาวัย 65 ปี ที่บ้านป่าข่อยใต้ อ.เมืองเชียงใหม่ เล่าว่า เช่าที่นาจากเจ้าของที่กว่า 14 ไร่ ทำนา มานานหลายปีแล้ว เป็นคนที่นี่ เคยมีสวน มีนา แต่ค่อย ๆ แบ่งขาย ส่งลูกเรียน และบางส่วนก็ปลูกบ้านอยู่อาศัย ลูกหลานเยอะต้องดิ้นรนช่วยดูแล เลยตัดสินใจมาร่วมลงทุนกับญาติทำนา ซึ่งละแวกป่าข่อย ย่านติดทางหลวง 121 ทำนาเช่ากันส่วนหนึ่ง บางส่วนเป็นเจ้าของที่ก็มี

ทีมข่าวสอบถามแหล่งน้ำในการทำนาปรัง ได้รับคำอธิบายว่า มีลำเหมือง ลำธาร ส่งน้ำจากแม่น้ำปิง หลายสาย เช่น เหมืองแก้วและลำน้ำคาว ไม่ค่อยน่ากังวล ประกอบกับย่านนี้เป็นที่ลุ่ม ดินดี และราคาข้าวล่อใจ เลยขยับทำนากันหลายแปลง

ข้อมูลภาคการเกษตร จ.เชียงใหม่ 25 อำเภอนั้น ในพื้นที่ อ.เมือง มีครัวเรือนเกษตร ราว ๆ 1,012 ครัวเรือน มีพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ประมาณ 9,517 ไร่ ซึ่งเขตติดต่อ อ.สันทราย และ อ.แม่ริม จะมีการทำนา ทำการเกษตรค่อนข้างมาก และข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญอีกชนิดของจังหวัด มีมูลค่าการตลาดนาปีเฉลี่ย 3 พันล้านบาท (ฤดู 2559/60) จากพื้นที่ทำนา 440,000.4 ไร่ ผลผลิตกว่า 269,826 ตัน เฉลี่ยผลผลิต 646 กก./ไร่ ปัจุบันพื้นที่ทำนา ในช่วง 2-3 ปี ลดลงกว่า 37,412 ไร่ เหตุผลสำคัญ คือ รุ่นลูกหลานไม่นิยมทำการเกษตร พื้นที่มีการพัฒนาขยายตัว ทำให้ราคาที่นาสูง จึงตัดสินใจขายเป็นส่วนใหญ่ และตามรายทางหลวง 121 ถือว่าเป็นย่านทุ่งนาเศรษฐีของ จ.เชียงใหม่ อีกแหล่ง

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประเมินแนวโน้มสถานการณ์ตลาดข้าวไทยปีนี้ว่า พื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าว เป้าหมายรอบที่ 1 จำนวน 58.99 ล้านไร่ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข้าวแล้ว เมื่อ 30 เมษายน 2562 และรอบที่ 2 จำนวน 13.81 ล้านไร่ มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป้าหมาย รอบที่ 1 จำนวน 4.00 ล้านครัวเรือน และรอบที่ 2 จำนวน 0.30 ล้านครัวเรือน

มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 กรอบวงเงิน 21,495.74 ล้านบาท ประกันราคาความชื้นไม่เกิน 15% ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาท นอกพื้นที่ 14,000 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท, ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาท, ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาท

คาดการณ์ว่าราคาข้าวในเชียงใหม่ จะได้ราคาดีอีกฤดูกาล เพราะมีหลายแหล่งทำนา เผชิญวิกฤติภัยแล้ง ข้าวนาปรังออกสู่ตลาดน้อย แต่อาจจะมีการฉกฉวยประโยชน์จากข้าวค้างสต๊อก ออกสู่ตลาด ส่งผลให้ชาวนาถูกเอารัดเอาเปรียบจากการขายผลผลิตได้ ในบางพื้นที่

ร่วมแสดงความคิดเห็น