ย้อนอดีต สงครามและการค้าไม้ ทวนสายน้ำ “สาละวิน” ที่บ้านแม่สามแลบ

“สาละวิน” สายน้ำที่ไหลเป็นแนวเขตประเทศระหว่างไทยกับพม่า ตรงบริเวณอำเภอแม่สะเรียง ที่ซึ่งเป็นดินแดนของนักเดินทางหลายคนใฝ่ฝันที่จะหาโอกาสมาเยือนให้ได้แม้สักครั้งหนึ่งของชีวิต ที่ซึ่งไอกรุ่นของอดีตแห่งตำนานการต่อสู้ระหว่างชนกลุ่มน้อยยังไม่จางหาย ย้อนขึ้นไปสู่เทือกเขาหิมาลัยในดินแดนธิเบต แผ่นดินที่ได้ชื่อว่าเป็น “หลังคาโลก” อันเป็นถิ่นกำเนิดของแม่น้ำใหญ่ 6 สาย อันได้แก่ แม่น้ำพรหมบุตร แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำโขง แม่น้ำยั่งจือ แม่น้ำฮวงโห และแม่น้ำสาละวิน

จากต้นกำเนิดบนเทือกเขาคุนหลุนด้านตะวันออกของประเทศธิเบต ไหลลงทางใต้ผ่านทะเลสาบแอมโดโชนัก ผ่านเมืองเมนคอส ซาแต็งไหลเลี้ยวเข้าไปในสาธารณรัฐประชาชนจีนทางตอนใต้ ผ่านเมืองยูนนาน ซึ่งชาวจีนเรียกชื่อของแม่น้ำนี้ว่า “นุเจียง” หรือ “นูเจียง” ส่วนคนแม่ฮ่องสอนจะเรียกว่า “แม่น้ำคง” ก่อนที่แม่น้ำสายนี้จะไหลลงสู่ประเทศพม่าเลียบชายแดนไทยทิศตะวันตกในเขตตำบลกองก๋อย ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง ไปสิ้นสุดชายแดนไทยที่สบเมย ก่อนจะไหลลงสู่อ่าวมะตะบันในทะเลอันดามัน ที่เมืองมะละแหม่ง รวมการเดินทางของสายน้ำสาละวิน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปากอ่าว เป็นระยะทางประมาณ 3,151 กิโลเมตร ทว่าสายน้ำแห่งนี้กลับมีเพียง 126 กิโลเมตรเท่านั้น ที่สาละวินทำหน้าที่แบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า คือ ตั้งแต่บ้านจอท่า จนถึงบ้านสบเมย

การเดินทางเพื่อทวนสายน้ำสาละวิน เริ่มต้นที่ท่าน้ำบริเวณบ้านแม่สามแลบ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดในจำนวนหมู่บ้านทั้งหลายริมฝั่งสาละวิน และด้วยเหตุที่เป็นหมู่บ้านที่อยู่สุดเขตแดนไทย จึงทำให้หมู่บ้านนี้มีกลุ่มชนจากหลายเผ่าพันธุ์เข้ามาอาศัยอยู่ อย่างผสมกลมกลืน ทั้งคนไต กะเหรี่ยง แขก (กะลา) และคนเมือง

บ้านแม่สามแลบแห่งนี้ เป็นชุมชนเล็ก ๆ บ้านส่วนใหญ่เป็นลักษณะห้องแถวขนานไปกับถนน เกือบทุกห้องจะมุงด้วยหลังคาใบตอง ห้องที่อยู่ชิดถนนเปิดเป็นร้านค้าขายของเบ็ดเตล็ด เครื่องมือจับปลา เสื้อผ้า ร้านก๋วยเตี๋ยว หลายร้านมีลังสีส้มสีแดงขนาดใหญ่วางอยู่ ลังเหล่านี้เป็นที่เก็บปลาที่ทยอยขึ้นมาจากเรือหางยาว ซึ่งจับได้ในแม่น้ำสาละวิน ในอดีตบริเวณนี้เป็นจุดการค้าผ่านแดนที่คึกคัก แต่ปัจจุบันซบเซาลงไปมากเนื่องจากปัญหาชายแดน สินค้าที่นำมาจำหน่ายที่นี่ส่วนมากเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคของไทยและสินค้าพื้นเมืองจากพม่า เช่น ผลิตผลทางการเกษตร เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก

วันที่ผมเดินทางไปเยือนนั้นแม้จะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่ที่บ้านแม่สามแลบก็ดูไม่คึกคักนัก นอกจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเยือนเพียงไม่กี่สิบคน นอกจากนี้ที่บ้านแม่สามแลบยังเป็นจุดศูนย์กลางของการล่องเรือ จะล่องขึ้นไปที่บ้านท่าตาฝั่งหรือไปทัศนาที่สบเมย ตกลงต่อรองราคากันได้ที่นี่ ราคาค่าเช่าเรือประมาณ 600-800 บาท ที่บ้านแม่สามแลบยังเป็นแหล่งชอปปิ้งข้าวของพื้นเมืองที่น่าสนใจ เพราะเป็นตลาดที่ชาวกะเหรี่ยง จากฝั่งพม่าจะขนพืชผัก และอาหาร ข้ามมาขายให้คนฝั่งไทย

ริมฝั่งน้ำสาละวินในช่วงน้ำลง จะเต็มไปด้วยหาดทรายขาวนุ่มละเอียด นักท่องเที่ยวที่มาสาละวินนิยมนั่งเรือทวนสายน้ำขึ้นไปหาหาดทรายเหมาะ ๆ กางเต็นท์พักแรม โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่บรรยากาศเป็นใจชักชวนให้หนุ่มสาวพากันออกเดินทางท่องเที่ยว

การเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติสาละวิน นักท่องเที่ยวจะต้องลงเรือที่ท่าแม่สามแลบโดยเรือเร็วทวนสายน้ำใช้เวลาประมาณ 50 นาที เจ้าหน้าที่ทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจ กองร้อยทหารพราน 360 บ้านแม่สามแลบ บอกกับเราว่า การนั่งเรือไปยังอุทยานแห่งชาติสาละวินจะต้องเดินทางก่อนเวลา 18.00 น. ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างทหารไทยกับพม่า ถ้าหลังจากนั้นแล้วทางทหารพรานจะไม่รับรองความปลอดภัย ดังนั้นหากใครที่ไม่สามารถลงเรือก่อนเวลา 18.00 น. ได้ก็จะต้องนอนค้างที่บ้านแม่สามแลบก่อน 1 คืน แล้วจึงลงเรือได้ในวันรุ่งขึ้น

อุทยานแห่งชาติสาละวิน เพิ่งได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อต้นปี 2537 บนพื้นกว่า 468,000 ไร่ เลียบฝั่งน้ำสาละวินในเขตอำเภอแม่สะเรียงและกิ่งอำเภอสบเมย เป็นขุนเขาและป่าไม้เบญจพรรณ ในช่วงหน้าหนาวจนถึงหน้าแล้งระดับน้ำในสาละวินจะลดลง สามารถมองเห็นหาดทรายขาวละเอียดทั้งสองฟากฝั่งสลับกับก้อนหินขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในหน้าหนาวสายหมอกจะปกคลุมทั่วทั้งลำน้ำ นอกจากนี้ป่าเบญจพรรณสองฝั่งน้ำจะเริ่มพลัดใบ เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงอมส้มให้นักเดินทางได้ชื่มชมความสวยงามของธรรมชาติ ส่วนในหน้าร้อนประมาณเดือนเมษายน หิมะบนภูเขาจะละลายไหลลงมา แม่น้ำจึงใสและเย็นกว่าปกติ หากจะกล่าวว่า ผู้คนในดินแดนพม่า ไทใหญ่ ไทน้อย และจีน ได้อาศัยกินและอาบใช้น้ำของหิมะที่ละลายจากเทือกหิมาลัยก็คงจะไม่ผิดนัก

เรื่องราวของการทำไม้ในผืนป่าสาละวิน ยังคงบอกกล่าวเรื่องราวในดินแดนอันลี้ลับที่เสียงเลี้อยตัดไม้ดังระคนกับเสียงปืน ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ป่าสาละวินไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แม้ว่าป่าผืนนี้จะดิบทึบอุดมสมบูรณ์ เป็นสังคมป่าซึ่งเรียกว่า “อินโดเบอร์ม่า” ที่ยังปรากฏเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย พรรณพืชส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้รับอิทธิพลมาจากเทือกเขาหิมาลัย มีพรรณไม้เขตหนาวหลายชนิดปรากฏอยู่ รวมถึงสังคมพืชแถบอินโดมาลายากระจายขึ้นตามเทือกเขาตะนาวศรี รวมถึงไม้สักซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เด่นแห่งป่าสาละวิน ก่อนหน้าที่จะกลายเป็นอุทยานแห่งชาติ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2450-2452 บริษัทอีสเอเชียติกได้เข้ามาทำสัมปทานไม้ หลังจากนั้นบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าก็ได้เข้ามารับช่วงสัมปทานต่อใน พ.ศ. 2453-2476 ผู้คนผ่านไปแล้ว แต่ภูเขาและแม่น้ำยังคงอยู่ เรื่องราวของการทำไม้และสงครามในดินแดนฝั่งตะวันตกของประเทศยังคงเป็นตำนานติดตรึงอยู่ในความทรงจำของนักเดินทางคนแล้วคนเล่าที่เข้ามาสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งแม่น้ำสาละวิน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น