ตามฮอยครูบาเจ้าศรีวิชัย อนุรักษ์ “พัดใบตาล” โบราณล้านนา

หากจะกล่าวถึงพัดใบตาลโบราณ คงต้องย้อนอดีตกันไปไกลสักหน่อย สมัยก่อนบ้านเราไม่มีพัดลมเหมือนปัจจุบัน การนำเอาวัสดุท้องถิ่นใกล้บ้านมีประดิษฐ์เป็นพัดจึงเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน เนื่องจากบริเวณพื้นที่ภาคเหนือมีต้นตาลอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งขนาดของใบตาลมีขนาดใหญ่ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย การทำพัดจากใบตาล เริ่มต้นในยุคสมัยไหน ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อกันมาว่า ในอดีตบรรพบุรุษปู่ย่าตายายก็ได้ใช้พัดจากใบตาลมาเนิ่นนานแล้ว หลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ในยุคที่ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ท่านยังมีชีวิตอยู่ ครูบาเจ้าท่านก็มีพัดใบตาลเป็นเสมือนสิ่งของเครื่องใช้ประจำตัวท่าน

ทว่าปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยี่ที่ทันสมัยเข้ามาแทนที่ ความนิยมในพัดใบตาลจึงลดน้อยลงไป เนื่องจากพัดลมถูกนำมาใช้มากขึ้น พัดใบตาลจึงกลายเป็นของหายาก คนทำก็ล้มหายตายจากแต่ที่หมู่บ้านรั้ว ตำบลหนองหนาม อ.เมือง จ.ลำพูน ยังมีกลุ่มคนทำพัดใบตาลโบราณเหลืออยู่เพียง 2 คน คือ คุณมาลี มณีทอง และพี่ชาย โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มฮักใบตาลโบราณบ้านรั้วทุ่ง” คุณมาลี เล่าว่า เริ่มต้นทำพัดใบตาลโบราณมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ถึงวันนี้เกือบจะ 60 ปี โดยได้รับความรู้การทำพัดใบตาลมาจากบรรพบุรุษคุณปู่คุณย่า ปัจจุบันทางกลุ่มได้ขยายการผลิต โดยให้ชาวบ้านที่ว่างเว้นจากการทำงานมาช่วยกันทำพัดใบตาลและหมวกใบลาน

ขั้นตอนของการทำพัดใบตาล เริ่มจากการหาใบตาลยอดอ่อน ที่มีสีขาวหรือสีเขียวอ่อน ๆ จากนั้นนำมาตัดปลายใบออกให้มีรูปคล้ายพัด แล้วนำไม้มาเหลาเป็นซี่เล็ก ๆ นำมาหนีบติดรอบขอบพัด แล้วจึงนำเชือกมาเย็บให้แน่นอีกทีหนึ่ง จากนั้นก็ถึงขั้นตอนของการติดด้ามพัด โดยจะใช้ไม้มะลิกไม้นำมาเหลาเป็นด้าม ตอกตะปูติดกับใบพัด เมื่อได้เป็นพัดใบตาลแล้ว จึงนำไปตากแดดเพื่อให้ใบตาลแห้ง สัก 1- 2 วัน หากวันไหนแดดแรง ก็ตากเพียง 1 วันเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ใบตาลแห้งเกินไป ซึ่งจะทำให้พัดกรอบและหักง่าย

พัดใบตาลโบราณของ “กลุ่มฮักใบตาลโบราณบ้านรั้วทุ่ง” ที่นิยมทำมีด้วยกัน 4 แบบ คือ แบบใบโพธิ์ แบบพัดโบก แบบกลมซึ่งเป็นแบบดั่งเดิม และแบบตาลปัตร สนนราคาของพัดใบตาลโบราณอยู่ที่ราคา 50- 60 บาท นอกจากนั้นทางกลุ่มยังได้มีการเพิ่มเติมลาดลายของพัด โดยการพ่นสีลงบนพัด ทำให้พัดมีความสวยงามกว่าแบบเก่า ปัจจุบันพัดใบตาลโบราณนั้นแทบจะหาใช้ได้ยาก เนื่องจากกลุ่มบุคคลที่มีความรู้หากันหันไปประกอบอาชีพอื่นกันหมด การทำพัดจากใบตาลจึงไร้การสืบทอดจากคนรุ่นเก่าสู่เยาวชนรุ่นใหม่

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น