มทร.ล้านนา เปิดศูนย์ฝึกอบรม LabVIEW ACADEMY สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า เพื่อผลิตแรงงานที่มีศักยภาพ

วันที่ 23 มกราคม 2563 รศ. ศีลศิริ สง่าจิตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ LabVIEW ACADEMY โดยมี ดร. กิจจา ไชยทนุ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ฯ กล่าวรายงาน ณ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

รศ. ศีลศิริ สง่าจิตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ฯ ร่วมกับ บริษัท ออล อิสทรูเมนท์ โซลูชั่น จำกัด เล็งเห็นความสำคัญด้านการนำเทคโนโลยีโปรแกรม LabVIEW มาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอน เพื่อผลิตแรงงานที่มีศักยภาพ ตามนโยบายการพัฒนาประเทศด้วย (Thailand4.0) และเตรียมความพร้อมเฉพาะทางด้าน Automates machine vision อันจะเป็นการรองรับ การเป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงอุดมศึกษา และเป็นสถานที่ในการจัดฝึกอบรมและสอบสมรรถนะ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ศิษย์เก่าและผู้สนใจ ในการเพิ่มทักษะ Up Skill ในการทำงาน จึงร่วมกันเปิดศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมด้าน LabVIEW ACADEMY ขึ้น ณ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

ศูนย์ LabVIEW ACADEMY นำเอาเทคโนโลยีโดยใช้โปรแกรม LabVIEW ACADEMY ประกอบด้วยSoftware LabVIEW และ Hardware เป็นเครื่องมือหนึ่งที่รองรับการใช้งานด้าน Smart Engineering ที่รองรับการใช้งานในทุก ๆ ศาสตร์ เช่น ด้านวิศวกรรมการผลิต ด้านการแพทย์ ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมโทรคมนาคม ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แมคคาทรอนิกส์และด้านวิศวกรรมโยธา เพื่อตอบสนองการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ยุคที่ 4.0 ที่เครื่องจักรจะต้องสามารถรองรับ การควบคุมแบบไร้สาย และจัดการในระดับการควบคุมทั้งระบบ

โดย LabVIEW เป็นโปรแกรมที่ใช้ติดต่อสื่อสารกับเครื่องมือต่าง ๆ ที่อยู่ภายนอกผ่านบอร์ด Data Acquisition ใช้งานเป็น monitoring หรือในการควบคุมการวัดค่า เช่น strain อุณหภูมิ หรือสัญญาณอื่น ๆ โดยมีตัวเซนเซอร์รับสัญญาณเข้ามา โดยเอาต์พุตที่ได้จากเซนเซอร์เหล่านี้จะมีค่าเป็นแรงดันหรือกระแสซึ่ง LabVIEW สามารถอ่านค่าที่ผ่านเข้ามาทาง DAQ Card แล้วบันทึกค่าเป็นไฟล์ข้อมูลได้ ดังนั้นการนำ LabVIEW ไปใช้จะต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์และ application ที่จะใช้ก่อนว่ามี input เป็นอะไร และต้องการ outputอะไร จากนั้นจึงทำการเลือก hardware ให้ตรงตามต้องการ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้งานได้กับหลาย ๆ ด้าน ดังกล่าวมาข้างต้น

วัตถุประสงค์ของการตั้งศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมด้าน LabVIEW ACADEMY ดังนี้ 1. เพื่อเผยแพร่ความรู้พื้นฐานการใช้งานโปรแกรม LabVIEW เบื้องต้น 2. เพื่อต่อยอดการประยุกต์ใช้งานโปรแกรม LabVIEW ในด้านอุตสาหกรรม 3. เพื่อการฝึกลงมือปฏิบัติจริง (Hand-On) ในโปรแกรม LabVIEW 4. เพื่อพัฒนาการใช้โปรแกรม LabVIEW ในการวิจัยและต่อยอดความรู้ 5. เพื่อการสอบใบ CERTIRIED LABVIEW สำหรับวิศวกรและผู้ที่สนใจ

ศูนย์ LabVIEW ACADEMY คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 ให้เป็นรูปธรรมตามแผนพัฒนาหลัก 8 แผนงาน โดยหนึ่งในแผนพัฒนาหลัก คือ การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัยและเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมบุคลากรในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-Curve ที่เป็นการพัฒนาประเทศให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น