“นักลงทุน-ชุมชน” แห่ศึกษาดูงานโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน ด้าน “ยูเอซี” จับมือชุมชนพร้อมยื่นประมูล Quick win ก.พ.นี้

นักลงทุนโรงไฟฟ้า และชุมชน สนใจประมูลโรงไฟฟ้าชุมชนกันอย่างคึกคัก แห่ศึกษาดูงานตัวอย่างความสำเร็จโรงไฟฟ้าที่อยู่คู่กับชุมชน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของ “ยูเอซี” จ.เชียงใหม่ หวังเก็บข้อมูลเตรียมตัวเข้าชิงชัย เผยโมเดลกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 เมกะวัตต์ใช้เงินลงทุนถึง 100 ล้านบาท สร้างรายได้เกษตรกรรอบโรงไฟฟ้าได้จริงปีละ 15 ล้านบาท ด้าน“ชัชพล”กรรมการผู้จัดการ ยูเอซีฯ ประกาศความพร้อมจับมือชุมชนยื่นประมูลกลุ่ม Quick win เดินหน้าโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพที่ภูผาม่าน จ. ขอนแก่น ขนาด 3 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าชุมชนที่อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

หลังจากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เร่งรัดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เตรียมจะประชุมพิจารณารายละเอียดหลักเกณฑ์คัดเลือกโครงการ คาดว่าจะสามารถเปิดยื่นเสนอโครงการในรูปแบบเร่งรัด หรือ กลุ่ม Quick win จำนวน 100 เมกะวัตต์ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ จากนั้นจะลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD)ได้ภายในปี 2563 หลังจากนั้นก็จะถึงคิวในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบทั่วไป หรือ กลุ่มสร้างใหม่จะเปิดให้ยื่นเสนอโครงการได้ภายในครึ่งแรกของปี 2563 จำนวน 600 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

ขณะที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า วิสาหกิจชุมชน และชุมชนต่างๆ ต่างได้ให้ความสนใจโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นอย่างมาก โดยมีการเดินทางไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าชุมชนที่ประสบความสำเร็จของ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) กันอย่างคึกคัก เพื่อเก็บข้อมูลเตรียมความพร้อมก่อนจะเข้ายื่นประมูลโครงการ

นายชัชพล ประสพโชค

นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทต่างๆ รวมถึงวิสาหกิจชุมชน ชุมชนต่างๆ เดินทางมาศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าชุมชนของบริษัทที่ อ. แม่แตง จ.เชียงใหม่ สัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 2-3 แห่ง เพราะโรงไฟฟ้าชุมชนแห่งนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างโครงการที่ประสบความสำเร็จที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่ใกล้ชุมชน ผลิตไฟฟ้าได้ขนาด 1.5 เมกะวัตต์ ใช้วัตถุดิบจากหญ้าเนเปียร์และข้าวโพด โดยรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรรอบๆ โรงไฟฟ้าปีละ 15 ล้านบาท และมีบายโปรดักซ์ที่ได้จากโรงไฟฟ้าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 20 ตันต่อวัน สามารถนำไปขายช่วยเหลือเกษตรกรในราคาถูก เพื่อใช้อินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีที่เป็นอันตรายกับเกษตรกรได้

โรงไฟฟ้าชุมชนที่อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

“การก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนสามารถทำรายได้ให้กับชุมชนได้จริง เกิดการจ้างงานในชุมชนได้จริง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่กับชุมชนได้ แถมโรงไฟฟ้าชุมชนยังได้ช่วยมลพิษ PM 2.5 อีกด้วย เพราะในพื้นที่ชนบทมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด อ้อย เป็นจำนวนมาก ในหน้าแล้งมักจะเผาซังข้าวโพด อ้อยกันทุกปี ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ถ้านำวัตถุดิบเหล่านั้นมาป้อนโรงไฟฟ้าชุมชนก็จะลดปัญหามลพิษในอากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย”

นอกจากนี้ ในด้านการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนถือว่าคุ้มมาก เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนขนาด 1 เมกะวัตต์ จะใช้เงินประมาณ 100 ล้านบาท หลังการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนแล้วเสร็จจะมีการซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าขนาด 1.5 เมกกะวัตต์ จะใช้เงินปีละ 15 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานในโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งอีกไม่ต่ำ 10-12 คน

โรงงานไฟฟ้าที่ภูภาม่าน

นายชัชพล กล่าวอีกว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะยื่นประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน กลุ่ม Quick win ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน อ.ภูผาม่าน จ. ขอนแก่น จำนวน 2 โรงๆ ละ 1.5 เมกะวัตต์ ซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต PPA เนื่องจากรัฐบาลก่อนหน้านี้มีนโยบายยกเลิกการสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการเจรจากับชุมชนที่จะเข้าร่วมตามนโยบายเรียบร้อยแล้ว ส่วนวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงป้อนโรงไฟฟ้าจะเป็นหญ้าเนเปียร์มีทั้งของโรงไฟฟ้าที่ปลูกไว้จำนวน 2 พันไร่ และจะรับซื้อจากเกษตรกรรอบๆ โรงไฟฟ้าอีกจำนวนหนึ่ง ราคา 500 บาทต่อกิโลกรัม สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรปีละ 3,500 บาทต่อไร่ ตอนนี้บริษัทรอเพียงความชัดเจนจากทางกระทรวงพลังงาน ถ้าเปิดให้ยื่นประมูลเมื่อไหร่เราก็พร้อมทันที

โรงงานไฟฟ้าที่ภูภาม่าน

ร่วมแสดงความคิดเห็น