โพสต์ดราม่า ใช้คำผิด จากกะเหรี่ยง เขียนว่า กระเหรี่ยง

ป้าย “จัดงานประจำปี อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ชาติพันธุ์ชนเผ่าชาวกะเหรี่ยง หรือ ปกาเกอะญอ” โพสต์ วิจารณ์ผ่านโซเชียลหนัก กลายเป็นข่าวดราม่า ใช้คำผิด จากกะเหรี่ยง เขียนว่า กระเหรี่ยง

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ได้จัดงานประจำปีของอำเภอโดยใช้ชื่องานว่า เชิญเที่ยวงานพริกกะเหรี่ยง ระหว่างวันที่ 23-27 มกราคม 63 ณ บริเวณลานที่ว่าการ อ.สบเมย ทั้งนี้การจัดงานในครั้งนี้ กลายเป็นดราม่า ปัญหาโลกแตก ที่พี่น้องชนเผ่ากะเหรี่ยงไม่พอใจ ที่ทีมจัดงานเขียนป้ายเชิญชวนการเที่ยวงานครั้งนี้ โดยใช้คำผิดพลาด คือ ในป้ายเขียนคำว่า เชิญเที่ยวงานพริกกระเหรี่ยง ทั้งที่คำที่ถูกต้องนั้น ต้องเขียนคำว่า กะเหรี่ยง จึงเกิดเสียงเป็นวิพากษ์วิจารณ์กันในกลุ่มโซเชียล และประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาอย่างหนัก และทำชนเผ่ากะเหรี่ยงไม่พอใจป้ายดังกล่าว โดยต้องการให้ทาง อ.สมเมย ช่วยแก้ไขป้ายโดยด่วน ทั้งที่งานผ่านไปเป็นวันที่ 2 แล้ว

นอกจากนี้ ได้มีคนใช้ชื่อเฟซบุ๊ก ว่า Chai Pongpipat ได้เขียนว่า นี่เหรอ (หลังจากมีการแจ้งเตือน ฝ่ายจัดแก้แค่ไม่กี่ป้ายตรงใกล้หน้างาน แต่ป้ายอื่นๆที่เรียงไรตามไหล่ถนน ยังเหมือนเดิมไม่มีการแก้ไขแต่ย่างใด) ทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐแท้ ๆ แทนที่จะเป็นแบบอย่างที่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคม และควรจะมีความรอบคอบเข้าใจ เห็นความสำคัญและคุณค่า ของวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าชาติพันธุ์ และมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ แต่กลับมาทำเสียเอง แล้วปล่อยเลยตามเลยโดยไม่แคร์ หรือฟังจากการท้วงติงให้มีการแก้ไขจากเครือข่ายหรือฝ่ายต่าง ๆ ทั้งในสื่อโซเซียล หรือผู้คนในชาติพันธุ์ซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรมเลย

จริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ ของคนที่ไม่ใช่เป็นเจ้าของวัฒนธรรม แล้วที่จริงมันเกิดความผิดพลาดได้ แต่เมื่อมีการท้วงติง เสนอแนะแล้ว ก็ควรจะแก้ไขก็จบ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและเข้าใจผิดหรือไม่ถูกต้องในสังคม ทั้งในเรื่องการพูด การเขียน หรือการแสดงต่าง ๆ ก็ต้องตระหนัก รอบคอบ ใส่ใจ ให้เกียรติและให้คุณค่าของเจ้าของวัฒนธรรมนั้น ๆ ไม่ใช่อยากทำอะไร แบบไหนก็ได้ จะถูกหรือผิดก็ไม่สนใจ แบบนี้ถือว่าขาดการเคารพวัฒนธรรมที่มีความสำคัญ ที่หลากหลายหรือแตกต่าง อาจก่อให้เกิดอคติที่ไม่ดีต่อกันในสังคมวงกว้าง และนำไปสู่ความขัดแย้งในรูปแบบอื่น ๆ ได้ในอนาคต และจากกะเหรี่ยง ก็อาจนำไปสู่ชาติพันธุ์อื่น ๆ ได้

ขณะที่ นายไวยิ่ง ทองบือ ประธานสื่อมวลชนเผ่าพื้นเมือง (IMN) และอดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า งานพริกกะเหรี่ยงของดี อ.สบเมย ขึ้นป้ายชื่อ ”งานพริกกะเหรี่ยงของดี อ.สบเมย” ที่เขียนคำว่า ”กะเหรี่ยง” เป็น ”กระเหรี่ยง” ได้มีพี่น้องชนเผ่าได้ทักท้วงไปยังผู้จัดงานคือ อ.สบเมย ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือระดับหนึ่ง ทำให้พี่น้องรู้สึกว่าทางผู้เกี่ยวข้องไม่มีความจริงใจ ต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น กล่าวคือ ได้มีการแก้ไขโดยการลบตัวรอเรือ (ร) ออกบ้างเฉพาะหน้างาน มีการนำสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์กดไลค์มาทับบ้าง และป้ายจำนวนมากตามไหล่ทาง ไม่มีการแก้ไขข้อความใด ๆ ให้สมบูรณ์ในขณะนี้

ทั้งที่เป็นงานระดับอำเภอและระดับจังหวัด การเขียนชื่อ ”กะเหรี่ยง” เป็น ”กระเหรี่ยง” ผิดเช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก หลายครั้งหลายสถานที่ ที่เคยเขียนผิด แต่เมื่อมีคนทักท้วงผู้จัดงานก็นำไปแก้ไขให้ถูกต้องเรื่องก็จบไปด้วยดี แต่สำหรับครั้งนี้เมื่อมีการทักท้วง ร้องเรียนไปแล้วแต่กลับแก้ไขปัญหาแบบลวก ๆ ขอให้ผ่าน ๆ ไปพ้น ๆ รับแต่ว่าได้แก้ไขไปบ้างแล้ว เป็นภาพสะท้อนถึงที่ผู้เกี่ยวข้องจัดงานครั้งนี้คือ อ.สบเมย ถือว่าไม่ใส่ใจให้ความสำคัญต่อชื่อของชาติพันธุ์อย่างเห็นได้ชัด จริง ๆ ปัญหาแก้ไขได้ง่ายนิดเดียว แต่ผู้จัดเลือกที่จะปล่อยปะละเลยให้เรื่องเป็นอย่างนั้น นี่ปัญหา ถ้าเป็นปัญหาที่ซับซ้อนยุ่งยากกว่านี้ เราจะแน่ใจอย่างไรว่า ราชการจะใส่ใจหรือตั้งใจแก้ไขปัญหาให้พี่น้องอย่างจริงจังหรือไม่ แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีพี่น้องชาติพันธุ์อาศัยเป็นจำนวนมาก คนที่จะมาทำงานจังหวัดนี้ มีความจำเป็นที่ต้องศึกษาข้อมูลวิถีชีวิต วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้เข้าใจเสียก่อน มิฉะนั้นจะเข้าใจปัญหาของคนท้องถิ่นได้อย่างไร

ฝากเป็นการบ้านโจทย์ใหญ่ ไปถึงวัฒนธรรม อ.สบเมย อ.สบเมย ผู้ว่าราชการ จ.แม่ฮ่องสอน ด้วย

ขอขอบคุณ : เฟซบุ๊ก Chai Pongpipat

ร่วมแสดงความคิดเห็น