ความเป็นมาของ “วัดเจ็ดลิน” วัดที่สร้างโดยกษัตริย์เมืองเชียงใหม่

หลังจากที่คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้ฟื้นฟู “วัดเจ็ดลิน” หรือ “วัดหนองจริน” วัดโบราณสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 500 ปี ให้เป็นโบราณสถานเคียงคู่กับประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่นั้น ชื่อของวัดเจ็ดลินก็ได้ผุดขึ้นกลางใจของคนเมืองเชียงใหม่ท่ามกลางข้อสงสัยนานาประการถึงที่มาที่ไป และความสำคัญของ วัดนี้จากเอกสารการค้นคว้าของวัลลภ นามวงศ์พรหม คณะกรรมการประสานงานพัฒนาวัดเจ็ดลิน กล่าวถึงวัดนี้ว่า เป็นวัดร้างสร้างขึ้นเมื่อก่อนปี พ.ศ. 2060 สมัยพระเมืองแก้ว หรือพระเจ้าลกปนัดดาธิราช

จากการขุดค้นของกรมศิลปากรพบว่า ในบริเวณวัดจะประกอบด้วยเจดีย์วิหาร และอาคารที่ต่อจากวิหารอยู่ในสภาพชำรุด ส่วนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ได้แก่บริเวณฐานชุกชีและองค์พระประธาน (องค์เดิมพบแต่เศียรปูนปั้นขนาดใหญ่ด้านหลังวิหาร) บริเวณด้านหลังวิหารมีเจดีย์รูปทรงมณฑปผสมทรงกลมอิทธิพลสุโขทัย มีซุ้มพระประดับ 4 ทิศอยู่ในยุคสมัยของพระเจ้าติโลกราช เป็นลักษณะเจดีย์ที่สร้างในสมัยพระยายอด เมืองเชียงราย พระเมืองเกษเกล้า หรือหลังจากนั้น สาเหตุที่เรียกว่า วัดเจ็ดลิน นั้นภายในวัดมีหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้านหลัง ปัจจุบันยังมีสภาพที่สมบูรณ์อยู่

ตามประวัติกล่าวว่า กษัติรย์ราชวงศ์มังรายในอดีตพระองค์ใด ก่อนที่จะขึ้นเสวยราชสมบัติจะต้องไปทรงผ้าชุดขาว ณ วัดผ้าขาวก่อน จากนั้นก็จะเสด็จไปเสดาะเคราะห์ที่วัดหมื่นตูมและจะเสด็จไปประกอบพิธีสรงน้ำพุทธาภิเษก ณ หนองน้ำวัดเจ็ดลิน ซึ่งในการประกอบพิธีราชาภิเษกนั้น มีการทำรางน้ำหรือที่ทางเหนือเรียกว่า “ลิน” ทำด้วยทองคำไว้ 7 ลิน แล้วนำน้ำพุทธาภิเษกใส่ในสุวรรณหอยสังข์ หล่อลงรางลินทั้ง 7 เพื่อสรงพระวรกาย จากนั้นจึงเปลี่ยนเครื่องทรงกษัตริย์ขึ้นครองราช ในสมัยของพระเจ้าแม่กุ หรือ พระเมกุฎิวิสุทธิวงศ์ กษัตริย์ราชวงศ์มังรายผู้ครองเชียงใหม่ลำดับที่ 20 (พ.ศ. 2094 – 2107) ก่อนที่จะขึ้นครองราชก็ได้

ทรงทำพิธีราชาภิเษก โดยเสด็จไปสรงน้ำพระที่วัดเจ็ดลิน ซึ่งบันทึกไว้ในตำนานเมืองเชียงใหม่ หน้าแรกว่า “..คำเชิญกษัตริย์เจ้าไปลอยเคราะห์ที่วัดหมื่นตูม นอนหั้นแล 3 วันแล้วไปอุสสาราชหล่อน้ำพุทธาภิเษกสุคนธาด้วยสุวรรณหอยสังข์ที่วัดเจ็ดลินคำ หั้นแล…”

วัดเจ็ดลิน มีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ตามโฉนดที่ดินออกในปี พ.ศ. 2482 เดิมเคยเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนจนถึงสมัยของครูบาปัญญา เจ้าอาวาสวัดหัวข่วง ซึ่งรักษาการเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. 2420 – 2440 ได้ทำการสำรวจรายชื่อหัววัดต่าง ๆ ได้บันทึกไว้ว่า “…วัดเจ็ดลิน ตั้งอยู่แขวงด้าวประตูช้างใหม่ในเวียงเชียงใหม่ เจ้าอธิการชื่อสีวิไช นิกายเชียงใหม่ ยังไม่ได้เป็นพระอุปัชฌาย รองอธิการยังไม่มี จำนวนพระลูกวัดในพรรษานี้ยังไม่มี พรรษาก่อนมีองค์หนึ่ง เณรมีสองตน ขึ้นแก่วัดพันเท่า…”

วัดเจ็ดลิน หรือ วัดหนองจริน ตกอยู่ในสภาพวัดร้าง หลังจากนั้นไม่นาน เพราะไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ กล่าวถึง ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2509 สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอเช่าเนื้อที่ด้านหน้าติดกับถนนพระปกเกล้า เป็นบ้านพักเจ้าหน้าที่และได้ย้ายออกไปในปี พ.ศ. 2520 ปัจจุบันมีประชาชนได้เข้าไปปลูกบ้านอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง ด้วยความสำคัญของวัดเจ็ดลิน ซึ่งถือเป็นวัดโบราณเก่าแก่ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่หลายหน่วยงานพยายามพัฒนาฟื้นฟูวัดดังกล่าวให้กลับมาเป็นวัด ของกษัตริย์ดังเช่นในอดีต เพื่อเรียนรู้สานต่อร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป

บทความโดย จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น