แม่อาย กับตำนาน “พระนาง” ในเวียงมะลิกา

แผ่นดินล้านนา จะมีเรื่องราว บอกเล่าในแบบนิทาน นิยาย ปรัมปรา ตำนานพื้นถิ่น ประวัติศาสตร์เมือง ซึ่งมักจะนำไป สู่การสืบค้น แสวงหาข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ตามวิธีการทางโบราณคดี และวิทยาศาสตร์ที่มีเหตุมีผลได้ข้อสรุปเป็นที่ยอมรับเชิงวิชาการมากมาย แต่บางตำนานซึ่งปรากฎในแต่ละท้องถิ่น ก็ไม่จำเป็นต้องหาหลักฐาน พิสูจน์ทราบ เพราะกลายเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความเชื่อ ความศรัทธาไปแล้ว

สำหรับเชียงใหม่ เมืองเก่าแก่กว่า 724 ปี ปัจจุบัน มี 25 อำเภอ อยู่ในเขตปกครอง แต่ละอำเภอ มีตำนาน ประวัติศาสตร์หลากหลายความลึกลับ มหัศจรรย์ เฉกเช่น “แม่อาย” อำเภอหนึ่งของเชียงใหม่ ที่มีสถานะเป็นอำเภอเมื่อพศ. 2516 แยกออกมาจาก อ.ฝาง มีคำขวัญประจำอำเภอว่า เหนือสุดเวียงเชียงใหม่ ยิ่งใหญ่ดอยผ้าห่มปก แม่น้ำกกแหล่งชีวิต ศักดิ์สิทธิ์พระธาตุสบฝาง เมืองพระนางมะลิกา เด่นสง่าวัดท่าตอน ลือขจรผลไม้ไทย มากมายหลายเผ่าชน เป็นคำขวัญที่มีสีสันหลากบทอีกอำเภอ ความน่าสนใจของ “แม่อาย” คงไม่ใช่เพราะมีปฐมบทฉากชีวิต ผ่านแผ่นฟิลม์ และละคร “แม่อายสะอื้น” ที่สะท้อนชีวิต “ดาวนิล” สาวสวยใน อ.แม่อาย

ความเป็นไปของวิถีชนบทในต่างจังหวัดครั้งอดีตสิ่งที่น่าค้นหาคือ เมืองโบราณที่ชื่อ “เวียงมะลิกา” ถ้าวิเคราะห์เส้นทางกว่า 900 กม.จากกรุงเทพ และย่นระยะมาที่ 173 กม. จากนครเชียงใหม่ การตั้งถิ่นฐานของเมืองแห่งนี้ ยังแลดูลึกลับตลอดมา ด้วยอาณาบริเวณราว ๆ 475,725 ไร่ ทิศเหนือและทิศตะวันตกติดกับรัฐเชียงตุง พม่า ทิศใต้ อยู่ชิดติด ต.เวียง, ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง, ทิศตะวันออก ติดต่อ อ.แม่สรวย, อ.แม่จัน จ.เชียงราย

ภูมิประเทศโดยทั่วไปมีภูเขา ทิวดอย ลดหลั่น สูงต่ำเรียงราย งดงาม ขึ้นชื่อลือชาก็ “ดอยผ้าห่มปก” และมีที่ราบลุ่มลำน้ำเชิงเขา กระจายไปในแนวลุ่มน้ำกก, ลำน้ำฝาง, น้ำแม่อายและแม่น้ำสาว ถือว่าเป็นแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งในเอกสารแผนพัฒนาอำเภอ 5 ปี (พศ. 2561-2565 ) ฉบับทบทวนล่าสุด ปี 2562 สรุปตำนานประวัติศาสตร์เมืองไว้ว่า “แม่อาย เดิมเป็นเมืองโบราณชื่อ เวียงมะลิกา …”

“แล้วเหตุใด เมืองโบราณแห่งนี้ จึงเกี่ยวเนื่องกับพระนางมะลิกา” ตำนานพื้นถิ่นระบุว่า ระหว่าง พ.ศ. 2172-80 พระยาเชียงแสน (พระนามเดิมของ พระเจ้าฝางอุดมสิน) ราชบุตรเจ้าเมืองเชียงแสน มาปกครองเมือง โดยมีพระชายาคือ “พระนางสามผิว” พระราชบุตรีเจ้าเมืองล้านช้าง (เวียงจันทร์) ซึ่งมีพระสิริโฉมงดงามเลื่องลือไกลในอดีต ราว ๆ ปี พ.ศ. 2132 พระธิดาองค์น้อยได้ประสูติ และพระเจ้าฝาง พระราชทานนามว่า “พระนางมะลิกา” สมัยโน้นเมืองฝางอยู่ในฐานะเมืองขึ้นของพม่า

ต่อมาพระเจ้าฝางฝึกซ้อมกำลังพล ตระเตรียมอาวุธและเสบียง เพื่อออกจากสถานะเมืองขึ้นพม่า ทำให้ “พระเจ้าภวะมังทาสุทโธธรรมราชา” ที่ครองเมืองอังวะ กษัตริย์พม่า ยกทัพหลวงมาตีเมืองฝาง ราว ๆ ปี พ.ศ.2176 ตั้งค่ายบัญชาการรบที่ เวียงสุทโธ ล้อมเมืองนานถึง 3 ปี 6 เดือน เมืองฝางจึงแตกพ่าย วีรกรรมของพระเจ้าฝางและพระชาชา ชนรุ่นหลังพร้อมใจสร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่บ่อน้ำซาววา หน้าวัดพระบาทอุดม มีเรื่องเล่า หลายบทเกี่ยวกับ การปกป้องเมือง บ้างก็ว่า ทั้ง 2 พระองค์ โทมนัส ที่เป็นต้นเหตุให้ราษฎรอดอยากจากการสู้รบ กรำศึก เมื่อข้าศึกตีเมืองแตก จึงตัดสินพระทัยโดดบ่อน้ำ จนสิ้นพระชนม์ บ้างก็ว่า พระธิดา คือ พระนางมะลิกา ผู้ทรงมีฝีมือในการยิงธนู มีความกล้าหาญ ชำนาญการรบ เฉลียวฉลาดได้นำกองกำลังทหาร ในสวนหลวง (ที่ประทับ) บุกมาช่วยพระบิดา พระมารดา พาหนีลี้ภัยไป จนทัพอังวะถอยกลับ เพราะยากจะฟื้นฟูเมือง

ต่อมา ทั้ง 3 พระองค์ทรงพาไพร่พลที่เหลือกลับเวียง นำราษฎรฟื้นฟูเมืองฝาง และ “พระนางมะลิกา” ทรงปกครองบ้านเมืองสืบต่อ อย่างสุขสงบตราบสิ้นพระชนม์ เมื่ออายุ 58 ปี ราว ๆ พ.ศ. 2190 รวมระยะเวลาครองราชย์ 40 ปี หลังจากขาดผู้นำ บ้านเมืองเริ่มระส่ำระสาย ปล้นฆ่ากัน และโรคร้ายระบาด ชาวเมืองจึงอพยพหลบหนี จนกลายเป็นเมืองร้างตั้งแต่นั้น

ปัจจุบันบริเวณเมืองโบราณที่ชื่อ เวียงมะลิกา ตั้งอยู่ที่ หมู่ 8 ต.แม่อาย ห่างจากที่ว่าการ อ.แม่อาย 2 กม. มีทางแยกจากทางหลวงแผ่นดินสายฝาง-ท่าตอน กม.ที่ 16.50 ลัดเลาะทางเข้าไปจะพบเห็นคูเมือง อิฐกำแพงดิน ชาวบ้านย่านนั้นถือว่าเป็นเขตโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ มีประชาชน ผู้เชื่อและศรัทธา ใน “พระนางมะลิกา” พากันไปกราบไหว้ บวงสรวงทั้งที่พระราชานุสาวรีย์แห่งแรก ตั้งอยู่ใน โรงเรียนแม่อายวิทยาคม ในอดีตเชื่อว่าเคยเป็นเวียงสนธยา หรือเวียงมะลิกา จะมีการจัดงานประเพณีบวงสรวง และสรงน้ำเจ้าแม่มะลิกา ช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี

ส่วนพระราชานุสาวรีย์อีกแห่ง ตั้งอยู่ในบริเวณ กองบังคับการควบคุมหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารม้าที่ 2 อ.แม่อายอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีภูมิทัศน์สวยงาม และศาลไม้เล็ก ๆ ฝีมือชาวบ้าน ตั้งอยู่บนดอยสูงขึ้นไป ไม่ห่างจากเวียงมะลิกา บันทึกประวัติศาสตร์ ที่อ้างอิงจารึกโบราณ จากการสืบค้นทางโบราณคดีนั้น พระเจ้าฝางและพระนางสามผิว มีรายละเอียดตรงกับตำนานต่าง ๆ หลายฉบับ ในพระนามว่า พญาพิมมะสาร กับ เจ้านางรุ้งแสง

ดังนั้น การตั้งข้อกังขาในบางเรื่องเกี่ยวกับพระนาง กาลเวลาจากอดีตถึงปัจจุบัน มุ่งสู่อนาคต ทุกเรื่องราว เรื่องเล่า จะปรากฎด้วยหลักฐาน ข้อเท็จจริง เชิงวิชาการตามลำดับ เพราะในตำราเรียน ที่เคยรับรู้ คนไทยอพยพมาจากที่ไหน ท้ายที่สุด เราต่างรับรู้กันชัดเจน แม้กระทั่ง เวียงโบราณแต่ละแห่งในล้านนา ร่องรอย หลักฐานที่นักโบราณคดีสืบค้น หลากล้วน เรื่องราว ยืนยันตำนาน นิทานปรัมปราว่า จริงเท็จ เพียงใด เหนือสิ่งอื่นใด ความเชื่อ ความศรัทธา ในจิตวิญญาณของผู้คนแต่ละถิ่นฐาน ล้วนดำรงอยู่และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มิเสื่อมคลาย โดยไม่ต้องหาเหตุผล พิสูจน์ทราบเสมอ

ขอขอบคุณภาพ : อบต.สันต้นหมื้อ อ.แม่อาย

ร่วมแสดงความคิดเห็น