เปิดแล้วอย่างยิ่งใหญ่ งานประเพณีกำฟ้าไทยพวน ตำบลทุ่งโฮ้ง ประจำปี 2563

เมื่อคืนวันที่ 26 มกราคม 2563 เวลา 20.00 น.ที่บริเวณสนามกีฬาเทศบาลตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผวจ.แพร่ เป็นประธานเปิดงานประเพณีกำฟ้าไทยพวน ตำบลทุ่งโฮ้ง ประจำปี 2563 และ มี น.ส.กนกวรรณ เน้องเฟิร์น เพ็งเพชร นางสงกรานต์ จ.แพร่ ปี 2562 เทพีธิดากำฟ้า ปี 2562 นางสาวแพร่ ปี 2563 มาร่วมงานด้วย

โดยมีนายสมเพ็ชร ศรีทิพงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งโฮ้ง กล่าวรายงานถึง วัตถุประสงค์ของการจัดประเพณีกำฟ้าไทยพวนตำบลทุ่งโฮ้งว่า เพื่ออนุรักษ์สืบสานและเผยแพร่ขนบประเพณี วัฒนธรรมวิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไทยพวนที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ ตลอดจนเพื่อเป็นการสักการบูชา และรำลึกถึงบรรพบุรุษของชาวไทยพวน และกิจกรรมต่าง ๆ เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2563 และวันที่ 27 มกราคม 2563 เวล่า 15.00 น.จะมีขบวนแห่วัฒนธรรมของชุมชนตำบลทุ่งโฮ้ง

ชาวไทยพวนบ้านทุ่งโฮ้ง อพยพมาจากเมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อประมาณ พ.ศ. 2360-2380 ชื่อเดิมเรียกว่า บ้านทั่งโห้ง “คำว่าทั่ง” หมายถึง ที่รองรับการตีเหล็ก คำว่า “โห้ง” เป็นภาษาไทยพวน หมายถึงสถานที่เป็นแอ่งลึกลงไป คนพวนกล่าวว่า สมัยก่อนนั้นคนพวนบ้านทุ่งโฮ้งจะมีเตาตีเหล็กกันแทบทุกหลังคาเรือน จึงเรียกว่า “บ้านทั่งโห้ง” ส่วนคำว่า “ทุ่งโฮ้ง” คงจะเป็นคำเพี้ยนมาจากคำว่า “ทั่งโห้ง”

ปัจจุบันอาชีพหลักของชาวบ้านทุ่งโฮ้ง คือ การทำผ้าหม้อห้อมแท้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่ จนได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP เชิงหัตถกรรม (OTOP) ประวัติประเพณีกำฟ้า ตามประวัติศาสตร์ที่เล่าต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินสยาม มีโอกาสให้เจ้าชมพูแห่งเมืองพวนยกทัพไปตีร่วมกับเจ้าเวียงจันทน์ ตีได้สำเร็จ ต่อมาเจ้าชมพูแข็งเมือง ไม่ยอมส่งส่วยให้เวียงจันทน์ และหลวงพระบางเหมือนเช่นเคย เจ้านนท์แห่งเวียงจันทน์โกรธมาก จึงส่งให้แม่ทัพชื่อเขียวไปปราบเมืองพวน เจ้าชมพูแพ้ถูกจับได้ และถูกสั่งประหารชีวิตด้วยหอก ขณะที่ทำการประหารนั้น เกิดเหตุอัศจรรย์ ฟ้าได้ผ่าลงมาถูกหอกหักสะบั้น เจ้านนท์เห็นว่าเจ้าชมพูเป็นผู้ที่มีบุญญาบารมี จึงสั่งให้ปล่อยกลับไปครองเมืองพวนดังเดิม ด้วยเหตุนี้ชาวไทยพวนจึงเห็นความสำคัญของฟ้า จึงเกิดประเพณี “กำฟ้า” ขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

กำฟ้า หมายถึง การนับถือสักการบูชาฟ้า การแสดงกตเวทิตาต่อฟ้าที่ท่านได้คุ้มครองให้มีอายุยืนยาว ให้อยู่ดีกินดี มีฝนตกต้องตามฤดูกาล มีข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ โดยชาวไทยพวนทุกคนจะหยุดทำงานทุกชนิด คือ หยุดทำไร่ ทำนา ทอหูก ปั่นฝ้าย ตีเหล็ก เป็นต้น แม้แต่อุปกรณ์เครื่องมือทำมาหากินก็ต้องเก็บเข้าที่ให้หมด คงเหลือแต่อุปกรณ์ในการหุงหาอาหารในแต่ละมื้อเท่านั้น ในวันกำฟ้า ชาวไทยพวนจะมีกิจกรรมร่วมกัน คือการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า การละเล่นในตอนกลางคืน และการพบปะสังสรรค์ระหว่างเครือญาติด้วยกัน ในวันกำฟ้า จะเริ่มตั้งแต่รุ่งเช้าไปถึงค่ำ

ร่วมแสดงความคิดเห็น