สผ.ลงพื้นที่ จัดฝึกอบรมให้ความรู้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม แก่หน่วยงานท้องที่ท้องถิ่นใน จ.ลำปาง

กองพัฒนาระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำทีมวิทยากรจากส่วนกลางลงพื้นที่ จัดกิจกรรมฝึกอบรมสัมมนาให้ความรู้เรื่อง “หลักการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 และบทบาทที่เกี่ยวข้องให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

โดยได้มีการเชิญตัวแทนเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ คมนาคม ชลประทาน อุตสาหกรรม ไฟฟ้า และตัวแทนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตท้องที่จังหวัดลำปาง ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล รวมกว่า 45 หน่วยงาน เข้าร่วมในกิจกรรมประชุมสัมมนาฝึกอบรมเสริมความรู้ด้านกฎหมาย พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ณ ห้องประชุมเบญจรงค์ โรงแรมเวียงลคอร ตำบลสวนดอก อำเภอเมืองลำปาง โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสัมมนาอย่างเป็นทางการ พร้อมร่วมเวทีกล่าวปาฐกถาพิเศษให้ข้อคิดและแนวทางปฏิบัติในกระบวนการการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แก่ผู้เข้าร่วมรับการฝึกอบรม

ทั้งนี้ ด้วยแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ได้กำหนดเป้าหมายในด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยส่วนหนึ่งได้กำหนดให้กระบวนการการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นเครื่องมือมาตรการสำคัญที่จะช่วยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบ สามารถที่จะสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องที่ ให้ประชาชนมีความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ที่ได้กำหนดโครงการกิจการ หรือการดำเนินการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง

ซึ่งการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้การคาดการณ์ผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบจากการพัฒนาโครงการ หรือกิจการเป็นไปได้อย่างใกล้เคียง ให้ชุมชนพื้นที่สามารถที่จะกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมถึงใช้ประกอบการตัดสินใจเพื่อการพัฒนาโครงการ หรือกิจการนั้น ๆ ได้อย่างรอบด้าน

โดยการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว นางเสาวภา หิญชีระนันทน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2558 – 2562 สำนักงานนโยบายและแผนฯ ได้เริ่มมีการกระจายภารกิจ “การพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)” มอบให้แก่จังหวัดต่าง ๆ นำไปดำเนินการ รวมแล้ว 25 จังหวัด และได้มีการฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพทางด้านความรู้เกี่ยวกับ EIA เตรียมความพร้อมให้แก่หน่วยงานพื้นที่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอีกกว่า 38 จังหวัด ทั้งจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม, พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ, พื้นที่ที่ได้รับการกระจายภารกิจการพิจารณารายงานฯ ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน, พื้นที่ที่มีการดำเนินงานโครงการคมนาคมพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ใช้ราง และท่าเทียบเรือ และเพื่อเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์ของประเทศ ให้แผนยุทธศาสตร์ได้รับการขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง และเห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2563

สำนักงานนโยบายและแผนฯ จึงได้กำหนดให้มีการฝึกอบรมเสริมสร้างศักยภาพทางด้านความรู้เกี่ยวกับ EIA เตรียมความพร้อมในการกระจายภารกิจ ให้แก่หน่วยงานพื้นที่ที่มีการดำเนินงานโครงการในเขตพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 รวมอีก 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดพัทลุง จังหวัดเลย จังหวัดจันทบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดตรัง และจังหวัดลำปาง โดยจังหวัดลำปาง ถือเป็นจังหวัดแรกที่ได้มีการจัดฝึกอบรมในปีงบประมาณนี้ ซึ่งทั้งหมดเพื่อต้องการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ โดยสามารถที่จะนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับ ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเองได้ต่อไป

ซึ่งในการฝึกอบรมครั้งนี้ ทีมวิทยากรจากกองพัฒนาระบบการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม นำโดย นางเสาวภา หิญชีระนันทน์ ผู้อำนวยการกองฯ ได้มีการบรรยายให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น การบรรยายให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกระบวนการการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย , การให้คำแนะนำทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการที่จะต้องมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ EIA รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานท้องที่ท้องถิ่น ตลอดได้มีการยกกรณีตัวอย่างการดำเนินโครงการ ที่จะต้องมีการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ใน EIA เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น