ปีนี้แล้งจริง หนักสุดในรอบ 40 ปี เตรียมแผนรับมือ

กลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตร ลุ่มแม่น้ำปิง เปิดเผยว่า รู้สึกตระหนก กับข้อมูลที่ระดับนโยบายของชลประทาน อ้างอิงสถิติที่กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าปี 2563 น่าจะเป็นปีที่แล้งรองจากปี 2522 ในรอบ 40 ปี อีกทั้งคาดว่า ปีนี้ปริมาณฝนในฤดูจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5-10% ส่งผลต่อปริมาณน้ำสะสมในอ่าง และแหล่งกักเก็บต่าง ๆ ทั่วประเทศ จริง ๆ แล้วน่าจะเป็นข้อมูลเชิงบวกที่เน้นไปถึงแผนปฏิบัติการ แผนบริหารจัดการน้ำเพื่อให้พ้นจากวิกฤติภัยแล้งที่ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจชลประทานทุกแห่งจะดำเนินการอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจ ไม่ให้ชาวบ้านเริ่มกังวลมากกว่า

ทั้งนี้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศล่าสุดว่า มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 44,970 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ มีน้ำใช้การได้ 21,169 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 40 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบันมีทั้งหมด 15 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่มอก เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด ตามแผนจัดสรรน้ำที่ได้กำหนดไว้ร่วมกันกับกลุ่มผู้ใช้น้ำและกลุ่มเกษตรกรที่ใช้น้ำจากเขื่อนเหล่านี้ โดยจะเน้นการส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค น้ำเพื่อผลิตประปา และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ เพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าภายใต้เงื่อนไขที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด

ในขณะที่สำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ว่าฝนที่ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติในพื้นที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆอยู่ในเกณฑ์น้อย ดังนั้น ในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบนในเขตเชียงใหม่และลำพูน ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากเขื่อนแม่งัดฯ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งประมาณ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) (เริ่มส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค. – 1 ก.ค. 63) เตรียมแหล่งเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในภาวะวิกฤติอีก 10 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งน้ำดิบให้กับการผลิตประปาของจังหวัด พร้อมกำหนดมาตรการบริหารจัดการน้ำ อาทิ ขอความร่วมมือให้งดปลูกพืชใช้น้ำมาก และส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน วางแผนจัดสรรน้ำให้ภาคการผลิตประปาให้เพียงพอ และขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำให้ปฏิบัติตามแผนการใช้น้ำแต่ละรอบเวรที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เป็นต้น

ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมได้ตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง เพื่อเป็นศูนย์กลางบูรณาการกระจายการช่วยเหลือด้านต่างๆตามที่ร้องขอทั้งเครื่องจักร ,การสูบน้ำ จัดหาน้ำแก้ปัญหาเฉพาะพื้นที่ขาดแคลนหนัก ตลอดจนสร้างความเข้าใจกับประชาชน พี่น้องเกษตรกร

สำหรับปริมาณน้ำที่วางแผนฤดูแล้งปี 2562/63 (1 พ.ย. 62- 30 เม.ย.2563) มีน้ำต้นทุนรวม 29,039 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ได้จัดสรรน้ำออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.จัดสรรในฤดูแล้ง 1 พ.ย. 62-30 เม.ย.63 และสำรองสำหรับฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค. 63

ร่วมแสดงความคิดเห็น