ตร.ภาค 5 จับ สาววัยรุ่นแฮก IG สวมรอยหลอกขายโทรศัพท์

ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 5 แถลงผลการปฏิบัติงาน การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับกรณีแฮก อินสตาแกรม (ไอจี) และสวมรอยใช้งานหลอกขายโทรศัพท์มือถือ ในราคาถูกกว่าท้องตลาดโดยไม่มีการส่งสินค้าให้จริง ทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินซื้อโทรศัพท์มือถือ จำนวนมาก

ตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตำรวจภูธรภาค 5 ทำการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีนั้น

ตำรวจภูธรภาค 5 โดย พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.วรัตม์ชัย ศณีรัตนวุฑฒิ
รอง ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.สมสง่า ชรินทร์ รอง ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.วันชัย สุวรรณศิริเขต รอง ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.กฤตธาพล ยี่สาคร รอง ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี รอง ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.อดุลย์ ดรุณเพท รอง ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.วีรชน บุญทวี ผบก.สส.ภ.5, พ.ต.อ ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย รอง ผบก.สส.ภ.5 ชุดหน่วยจับกุม กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 5, ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตำรวจภูธรภาค 5 (ศปอส.ภ.5)

จับกุมผู้ต้องหา จำนวน 1 คน คือ น.ส.อรดี (นามสมมุติ) อายุ 16 ปี อยู่บ้านเลขที่ 103 ซอย 3 เพชรมาลัย ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พร้อมด้วยของกลาง โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ที่ บริเวณหน้าซิตี้รีสอร์ทคอนโด ซ.ภาสว่าง ถ.เพชรเกษม ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 เวลาประมาณ 17.00 น.

พฤติการณ์ในการจับกุม ด้วยตำรวจภูธรภาค 5 ได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ได้ถูกคนร้ายส่ง ลิงก์ให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูล โดยข้อมูลที่ให้กรอกคือข้อมูล ID และรหัสของ อินสตาแกรม (ไอจี) ของผู้เสียหาย จากนั้นได้มีอีเมลจากอินสตาแกรม (ไอจี) แจ้งเตือนมาว่า หมายเลขโทรศัพท์ที่ได้ผูกไว้กับอินสตาแกรม (ไอจี) ได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นหมายเลขโทรศัพท์อื่น ที่ไม่ใช่ของตน โดยที่ผู้เสียหายไม่ได้เป็นผู้เปลี่ยนแต่อย่างใด และเมื่อกลับเข้าไปดู อินสตาแกรม (ไอจี) อีกครั้ง ปรากฏว่า ไม่สามารถเข้าใช้งานได้แล้ว ต่อมาพบว่า อินสตาแกรม (ไอจี) ของผู้เสียหาย ได้ถูกเปลี่ยนข้อมูลกลายเป็น อินสตาแกรม (ไอจี) ประกาศหลอกขายโทรศัพท์มือถือ ในราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก และทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อ และโอนเงินซื้อโทรศัพท์มือถือ เมื่อผู้ต้องหาได้เงินแล้ว จึงบล็อกผู้ใช้งาน ที่ซื้อสินค้าโดยไม่ส่งสินค้าให้จริง และยังมีพฤติการณ์หลอกผู้เสียหายอยู่เรื่อย ๆ

ต่อมา ศปอส.ภ.5 ได้ทำการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน จนทราบว่าคนร้ายในคดีนี้ คือ น.ส.อรดี (นามสมมุติ) อายุ 16 ปี อยู่บ้านเลขที่ 103 ซอย 3 เพชรมาลัย ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จึงได้ขออนุมัติหมายจับตามหมายจับของศาล จ.เชียงใหม่ จำนวน 2 หมาย คือ หมายจับของศาลเยาวชนและครอบครัว จ.เชียงใหม่ ที่ 6/2563 ลงวันที่ 17 ม.ค. 2563 ซึ่งเป็นคดีในความรับผิดชอบของ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ข้อหา คือ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”

และพบว่าผู้ต้องหามีหมายจับ ของศาลเยาวชนและครอบครัว จ.ชัยนาท ที่ 7/2562 ลงวันที่ 2 ธ.ค. 2562 ซึ่งเป็นคดีในความรับผิดชอบของ สภ.วังน้ำขาว จ.ชัยนาท ข้อหา “กระทำความผิดโดยการ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน, ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น”

จนวันที่ วันที่ 28 มกราคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบข้อมูลของคนร้าย ว่าอยู่ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ศปอส.ภ.5 จึงได้วางแผนเข้าจับกุม น.ส.อรดี เพชรนก ที่บริเวณหน้า ซิตี้รีสอร์ทคอนโด ซ.ภาสว่าง ถ.เพชรเกษม ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ได้ส่งลิงก์ให้ผู้เสียหายกรอกข้อมูล โดยข้อมูลที่ให้กรอกคือข้อมูล ID และรหัสของอินสตาแกรม (ไอจี) ของผู้เสียหาย จากนั้นได้สวมรอยใช้ อินสตาแกรม (ไอจี) ของผู้เสียหายหลอกขายโทรศัทพ์มือถือในราคาถูกกว่าท้องตลาด ทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อ โอนเงินซื้อโทรศัพท์จำนวนมาก ยอดเงินที่ได้ประมาณ 333,200 บาท มีผู้ได้รับความเสียหาย จำนวน 50 ราย (ผู้เสียหายในพื้นที่ ตร.ภาค 5 จำนวน 8 ราย ความเสียหาย 61,500 และผู้เสียหายในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ 42 ราย ความเสียหาย 271,700 บาท ) หลังจากนั้นจะทำการถอนเงินจากบัญชี และนำเงินดังกล่าว ไปกิน เที่ยว ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ตำรวจภูธรภาค 5 ขอเตือนประชาชนผู้ใช้ แอปพลิเคชัน อินสตาแกรม (ไอจี) ให้ระมัดระวังคนร้ายลักลอบเข้าถึง แอปพลิเคชัน อินสตาแกรม (ไอจี) ของตนเอง ดังนี้

1.ใช้พาสเวิร์ดที่แตกต่างกันในแต่ละบัญชี หรือใช้ระบบล็อกเข้ารหัสมากกว่า 1 ชั้น เป็นต้น

2. หากได้รับอีเมลว่ามีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ไม่ควรกดตกลง

3. ควรตั้งรหัสอย่างน้อย 6 ตัว ที่ประกอบไปด้วยตัวอักษร และตัวเลขปะปนกัน

4. หากมี Apps อื่นที่เข้ามาและดูแปลกให้ตัดสิทธิ์ และเปิดระบบยืนยันตัวตน 2 ชั้น

และ 5. ในการเข้าไปดูเว็บลิ้งค์ต่าง ๆ ที่มีผู้ส่งมาให้ ถ้ามีการกรอกรหัสผ่านเพื่อเข้าโปรแกรมนั้นอีกครั้ง หากไม่แน่ใจว่าเป็นเว็บลิงก์ที่ปลอดภัยหรือไม่ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปใช้บริการเว็บไซต์ดังกล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น