ลมหายใจ และกลิ่นไออารยธรรม ไทลื้อที่เมืองน่าน

ถ้านับย้อนหลังไปเมื่อราว 600 ปีก่อน ดินแดนแห่งล้านนาตะวันออกเมืองนี้ ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับกรุงสุโขทัย มีเจ้าผู้ครองนครสืบทอดราชวงศ์ต่อกันมารวมทั้งสิ้น 59 พระองค์ น่านมีเชื่อเดิมว่า “นันทบุรี” หรือ “วรนคร” สร้างขึ้นโดยพญาภูคาในราวพุทธศตวรรษที่ 18 บริเวณที่ราบในเขตตำบลศิลาเพชร หรืออำเภอปัวในปัจจุบัน ในสมัยพญาการเมืองได้รับพระบรมสารีริกธาตุมาจากกรุงสุโขทัย พระองค์ทรงเลือกดอยภูเพียงแช่แห้งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมกับย้ายเมืองมาสร้างใหม่ที่บริเวณเชิงดอย และต่อมาในราวปี พ.ศ.1900 เมื่อแม่น้ำน่านได้เปลี่ยนทิศทางไหล จึงได้ย้ายเมืองอีกครั้งมาตั้งที่บ้านห้วยไค้ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองในปัจจุบัน

จังหวัดน่านเป็นจังหวัดเล็ก ๆ จังหวัดหนึ่งของภาคเหนือที่อยู่ทางทิศตะวันออกสุด ด้วยเมืองน่านไม่ใช่เป็นเมืองผ่านเหมือนเมืองอื่น ๆ จึงทำให้ไม่ค่อยมีใครเดินทางเข้าไปมากนัก ใครที่เคยเดินทางมาเยือนเมืองน่านก็คงไม่รู้สึกแปลกอะไร แต่สำหรับคนที่เพิ่งจะเคยเดินทางมาเยือนเมืองน่านเป็นครั้งแรกแล้ว ไม่ต้องอธิบายหรอกว่ามีความรู้สึกเช่นไร เป็นที่ทราบกันดีว่าเมืองน่านนั้น เป็นเมืองเก่าที่ยังคงอนุรักษ์รูปแบบของอาคาร และสถาปัตยกรรมโบราณของบ้านเมือง รวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่เอาไว้อย่างเหนี่ยวแน่น จนกระทั่งหลายปีมานี้ได้มีการออกกฏไม่ให้มีการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนในเขตเทศบาลเมืองน่านสูงเกินกว่าตึก 3 ชั้น รวมทั้งมีการรณรงค์ให้ในเขตเทศบาลเป็นเขตปลอดสถานบริการกลางคืน เพื่อต้องการจะอนุรักษ์เมืองให้เป็นเมืองแห่งมรดก

ด้วยความที่เมืองน่านเป็นเมืองที่เดินทางไปมาลำบาก และมีพื้นที่ติดชายแดนประเทศลาว ซึ่งมีด่านเข้าออกอยู่ที่บ้านห้วยโก๋น สามารถเดินทางต่อไปยังเมืองหลวงพระบางของลาว และสิบสองปันนาของจีนได้ ด่านดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้เป็นด่านเข้าออกชายแดนที่ถาวร ซึ่งจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะเดินทางไปยังหลวงพระบาง ประเทศลาว สิบสองปันนาในจีน และสามารถเดินทางไปถึงเมืองเดียนเบียนฟูในเวียดนามได้ด้วย

ความมหัศจรรย์ของเมืองน่านก็ คือ วัฒนธรรมของไทลื้อที่อพยพเข้ามาจากสิบสองปันนาเมื่อกว่า 200 ปีก่อนจนวัฒนธรรมของไทลื้อนี้เอง ได้กลายเป็นจุดเด่นของจังหวัดน่าน ที่นักท่องเที่ยวหลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี นอกจากนี้เมืองน่านยังมีสิ่งมหัศจรรย์อีกหลายอย่าง ที่มีอยู่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้นก็คือ “งาช้างดำ” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง “ต้นชมพูภูคา” พันธุ์ไม้ป่าหายากที่พบเพียงที่เดียวในประเทศไทย รวมถึงบ่อเกลือเมืองน่านซึ่ง แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าบนภูเขาสูงกว่า 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลจะมีบ่อเกลือธรรมชาติเกิดขึ้น นับเป็นความมหัศจรรย์ที่ไม่มีที่ใดเหมือน และภาพจิตรกรรมฝาผนังระดับมัสเตอร์พีทของวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา กับวัดภูมินทร์ ฝีมือช่างสกุลไทลื้อที่มีอายุมากกว่า 150 ปี ว่ากันว่า ภาพเขียนจิตรกรรมของจังหวัดน่าน สวยสดงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง ของประเทศหาที่ใดเสมือน

เรื่องราวความมหัศจรรย์ของเมืองน่าน และกลิ่นไออารยธรรมไทลื้อยังคงไม่จางหายไปจากอดีต ผู้คนผ่านมาแล้วผ่านไป ทิ้งไว้แค่ความทรงจำ แต่วัฒนธรรมของไทลื้อที่ถูกถ่ายทอดมานับร้อยปี จะยังคงอยู่สร้างสีสันให้กับเมืองน่านอย่างไม่มีวันลบเลือน นักท่องเที่ยวท่านใด ที่ต้องการจะเข้ามาสัมผัสบรรยากาศเก่า ของความเป็นเมืองล้านนาตะวันออก เช่น เมืองน่าน สามารถสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวได้ที่ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน 0-5477-3047, หอการค้าจังหวัดน่าน 0-5477-4499 และชมรมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดน่าน 0-5471-0636.

บทความโดย จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น