“เหมืองแม่เมาะ” เดินหน้าแผนป้องกัน และระงับไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบ

นายอำพล กิติโชตน์กุล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ (ชชม.) เปิดเผยว่า กฟผ.แม่เมาะ ได้จัดทำแผนป้องกันและระงับไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบกว่า 90,000 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 เตรียมการก่อนฤดูแล้ง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2562 ทั้งการจำแนกพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ 1. ระดับความเสี่ยงสูง ได้แก่ บริเวณรอยต่อระหว่างป่าธรรมชาติกับพื้นที่ฟื้นฟู, พื้นที่บ่อเหมืองที่ไม่มีการทำงาน, พื้นที่ฟื้นฟูที่มีคนเข้ามาหาของป่า รวมถึง พื้นที่กองขยะ และ 2. ระดับความเสี่ยงน้อย ได้แก่ พื้นที่บ่อเหมืองที่มีการทำงาน, พื้นที่ป่าปลูกใหม่ และพื้นที่อาคาร รวมถึงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักรที่ใช้สำหรับดับไฟป่า รวมถึงอุปกรณ์สนับสนุน เช่น รถบรรทุกน้ำ อุปกรณ์ดับไฟป่า รวมถึงวิทยุสื่อสาร ส่วนที่ 2 การจัดทำแนวป้องกันไฟป่า ภายในพื้นที่กฟผ.แม่เมาะ ระยะทางรวม 162 กิโลเมตร ซึ่งได้ดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 – เดือนมกราคม 2563 ทั้งการใช้เครื่องจักรกล และแรงงานคนในพื้นที่เสี่ยงที่เครื่องจักรกลเข้าไม่ถึง ประกอบด้วย พื้นที่ทิ้งดินด้านตะวันตกเฉียงเหนือ (NW Dump) ระยะทาง 40 กิโลเมตร, พื้นที่ทิ้งดินด้านตะวันออกเฉียงเหนือ (NE Dump) ระยะทาง 66 กิโลเมตร และพื้นที่ทิ้งดินด้านตะวันตกเฉียงใต้ (SW Dump) ระยะทาง 56 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์ติดป้ายรณรงค์ป้องกันไฟป่าให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงชุมชนพื้นที่รอบเหมืองแม่เมาะได้รับทราบ ทั้งนี้ หากพบเห็นไฟไหม้บริเวณพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ สามารถแจ้งเหตุได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 054-254555 ตลอด 24 ชั่วโมง และ 054-254295 ในวันและเวลาทำการ จันทร์ถึงศุกร์ ส่วนพื้นที่อื่นนอก กฟผ.แม่เมาะ สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง เบอร์โทรศัพท์ 054-230549

สำหรับส่วนที่ 3 การระงับไฟป่า ได้จัดทีมงานเฝ้าระวังและระงับไฟป่า หรือ ชุดเคลื่อนที่เร็ว ลาดตระเวนตรวจพื้นที่พร้อมอุปกรณ์ดับไฟป่า เช่น ไม้ตบ คราด ถังน้ำสะพายหลังพร้อมสายฉีดน้ำ เป็นต้น โดยจะออกตรวจตราพื้นที่รอบเหมืองแม่เมาะตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น. เป็นประจำทุกวัน และจะทำหน้าที่เข้าระงับเหตุเบื้องต้นในทันทีที่พบเห็น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการเฝ้าระวังตามแผนป้องกันและระงับไฟป่าในพื้นที่ 3 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2560-2562 พบว่า เกิดไฟป่าขึ้นจำนวน 16 ครั้ง แยกเป็น ปี 2560 จำนวน 6 ครั้ง , ปี 2561 จำนวน 4 ครั้ง และล่าสุดปี 2562 จำนวน 6 ครั้ง “การเฝ้าระวังไฟป่า รวมถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ไม่ได้ทำแค่เฉพาะพื้นที่เหมืองแม่เมาะเท่านั้น กฟผ.แม่เมาะ ยังได้ให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือและสนับสนุนตามที่ได้รับการร้องขอ ไม่ว่าจะเป็นงานในส่วนของอำเภอแม่เมาะ และ จังหวัดลำปาง ก็พร้อมให้ความร่วมมือตามกำลังที่สามารถทำได้” นายอำพล กล่าว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : แผนกประชาสัมพันธ์เหมืองแม่เมาะ

ร่วมแสดงความคิดเห็น