ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เปิดงานอุตสาหกรรมแฟร์ 2020 เพื่อสร้างจุดขายแสวงหาตลาดใหม่

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ส่งผลให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเอง และต้องสร้างสินค้าของตนเองให้มีเอกลักษณ์ เพื่อสร้างจุดขาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแสวงหาตลาดใหม่ และสร้างโอกาสทางการลงทุนได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ อนาคต สภาอุตสาหกรรมฯ จะปรับเปลี่ยนองค์กรใหม่ตามความต้องการของภาคธุรกิจ ให้เป็น Service Organization ที่เน้นการให้บริการใน 5 ด้าน คือ

1) F.T.I. Academy หลักสูตรการฝึกอบรมร่วมกับมหาวิทยาลัย ในแต่ละปีจัดหลักสูตรมากกว่า 100 ครั้ง รัฐบาลจะสนับสนุนเรื่อง Hardware และภาคเอกชนเป็น Software หรือเป็นผู้จัดทำ Content ในการฝึกอบรม และมีกระทรวงอุดมศึกษาฯ คอยให้การสนับสนุน

2) Marketing ศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรม จัดตั้ง e-Commerce ให้นำสินค้ามาวางขายบน Platform โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ผลักดันนโยบาย Made in Thailand ที่จะเชื่อมโยงกับระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะขอให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้คล่องตัวมากขึ้น และเน้นไปที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ในไทย (Local Content)

3) Innovation โดยการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรม หรือ Innovation Funds ซึ่งมีภาคเอกชนเป็นผู้บริหารกองทุน การส่งเสริมศักยภาพบุคลากรด้านองค์ความรู้นวัตกรรม และศูนย์ข้อมูลนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรม 4) Operation Efficiency โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน บริการด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม และเกษตรปลอดภัย และต้องขอขอบคุณมาตรการต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย ของรองนายกฯ สมคิด ที่ช่วยเหลือ SMEs 5) Environment โครงการอุตสาหกรรมพัฒนาสู่ชุมชนสีเขียว ปัจจุบันได้ส่งเสริมโรงงานให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory 225 แห่ง และ Green Factory กว่า 3,500 แห่ง มีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง Water Footprint 83 ผลิตภัณฑ์ และการจัดทำฐานข้อมูลสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Eco Products 140,000 รายการ โครงการมาตรฐานห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ (TFCC) การเสนอแนวคิด Bio-Circular-Green Economy ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน และผลักดันการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ หรือ PM 2.5

นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า งานอุตสาหกรรมแฟร์ ที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและจัดอย่างต่อเนื่องมาถึงปีที่ 21 ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนและบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ยังเป็นการยกระดับและพัฒนามาตรฐานสินค้าของภูมิภาคให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลก

ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสดี ที่ประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงจะได้รับความรู้ และสัมผัสสิ่งใหม่ ๆในวงการอุตสาหกรรม จากการเข้าชมงาน และยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้พัฒนาศักยภาพของตนเองให้สามารถแข่งขันได้ และทำให้สินค้าของตนเองเป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้น

สำหรับการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน มาจัดแสดงภายในงาน จะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย และเป็นช่องทางนำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การมาเปิดคลินิกให้คำปรึกษา แนะนำข้อมูลด้านการค้า การลงทุน และแนวทางการสร้างอาชีพของหน่วยงานร่วม จะเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชม และผู้เข้าชมงาน ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ช่วยต่อยอดในการดำเนินธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จต่อไป

นายสราวุฒิ สินสำเนา ประธานจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ 2020 กล่าวว่า สำหรับการจัดงาน “อุตสาหกรรมแฟร์ 2020” ในปีนี้ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่1 หน่วยงานร่วมจัดในครั้งนี้ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ / ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 / สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน19เชียงใหม่ / สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติภาคเหนือ (สวทช.) และศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1

การเปิดคลีนิคให้คำปรึกษาแนะนำและแนวทางให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆกับผู้ประกอบการ ของ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติภาคเหนือ (สวทช.) การจัดกิจกรรมของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ประกอบด้วยการจัดนิทรรศการมีชีวิต เป็นการจำลองธุรกิจร้านเบเกอรี่ กาแฟ โดยผู้รับการฝึกสาขาพนักงานเบเกอรี่ ที่สำเร็จหลักสูตรการฝึกแล้วและเตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงาน นอกจากนี้ยังมีสาขาอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี ช่างไฟฟ้า ช่างเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ และยังเปิดสอนวิชาชีพระยะสั้นให้กับผู้สนใจภายในงานด้วย

การออกบูทจำหน่ายสินค้าของสมาชิกสภาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม จากจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 350 คูหา โดยแบ่งโซนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนัง / โซนอุตสาหกรรมเครื่องจักร / โซนอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป / โซนเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน / โซนอัญมณีและเครื่องประดับ / โซนอาหารและเครื่องดื่ม /การจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภคราคาโรงงาน

การจัดแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรและชิ้นส่วน อุปกรณ์ที่ทันสมัย ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงเครือข่าย และเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน นำไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับสินค้า

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากผู้บริโภคจะได้ซื้อสินค้าคุณภาพราคาพิเศษแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน ได้ชมและสัมผัสกับเทคโนโลยีรวมถึงนวัตกรรมของบริษัทใหญ่เพื่อนำกลับไปต่อยอดพัฒนาสินค้าของตนเอง และยังเป็นเวทีให้ประชาชนและผู้สนใจทั่วไปได้เข้าร่วมกิจกรรมและรับทราบข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ก่อนจะก้าวเข้ามาเป็นผู้ประกอบการใหม่ นอกจากนี้ยังเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายที่เป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ตลอดระยะเวลา 10 วัน คาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายภายในงานกว่า 30 ล้านบาท

ร่วมแสดงความคิดเห็น