ภัยพิบัติด้านการเกษตร เชียงใหม่พบโรคปากเท้าเปื่อย ภัยแล้งกระทบนาข้าว

ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์ล่าสุดว่า สภาพอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่า 30% ของความจุอ่าง (เขื่อน) มี 15 แห่ง อาทิ เขื่อนแม่กวง เชียงใหม่ ร้อยละ 24 เขื่อนภูมิพล ร้อยละ 15 สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ระดับตลิ่ง 12.80 เมตร ระดับน้ำ 1.89 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 10.91 เมตร

แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึงปัจุบันใช้น้ำไปกว่า 2,372 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 59 ของแผน ซึ่งแผนการเพาะปลูกทั้งประเทศนั้น เฉพาะข้าว 4.95 ล้านไร่ พืชผัก พืชไร่ 1.34 ล้านไร่ จังหวัดที่มีการปลูกข้าวมากกว่าแผนรวม 3.54 ล้านไร่ มีในเขตชลประทาน 41 จังหวัด เช่น เชียงใหม่, ลำพูน, แพร่ และน่าน เป็นต้น

ผลกระทบภัยแล้ง ช่วงเตือนภัยตั้งแต่กันยายน 62 ถึงปัจจุบัน (31 มีนาคม 63) มีการประกาศเป็นภัยพิบัติฉุกเฉินแล้ว 20 จังหวัด 116 อำเภอ 621 ตำบล 2 เทศบาล 5,297 หมู่บ้าน เช่น เชียงราย 15 แห่ง, น่าน 2 แห่ง และพะเยา 6 แห่ง และจากภาวะฝนทิ้งช่วงมีหลายจังหวัด ที่ได้จัดสรรงบช่วยเหลือ เช่น เชียงราย และน่าน

สำหรับสถานการณ์โรคพืชระบาด พบโรคไหม้ข้าวใน จ.แพร่ ส่วนโรคปากเท้าเปื่อยในสัตว์ มีรายงานเมื่อ 28 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา พบสัตว์ป่วย ที่ ม.5 บ้านแม่แฝกใหม่ อ.สันทราย เชียงใหม่ มีกลุ่มเสี่ยง 10 ตัว รอผลห้องตรวจ ด้านสัตว์ปีก ไม่มีรายงานสัตว์ป่วยหรือตายแต่อย่างใด

ด้านหน่วยงานติดตามการระบาดโรคพืช โรคสัตว์ในภาคเกษตรของไทย ยืนยันว่า จากรายงานเหตุการณ์ภัยพิบัติจากฝูงตั๊กแตนจำนวนมาก ในพื้นที่แอฟริกา เช่น เคนยา เอธิโอเปีย และโซมาเลีย ไม่น่ากังวลว่าจะเกิดขึ้นในภาคพื้นทางเอเชีย หรือแถบอาเซียน

ในขณะที่รายงานองค์การด้านอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ระบุถึง ความแปรปรวนทางธรรมชาติ จะมีผลต่อการเพิ่มจำนวนของฝูงตั๊กแตนที่มากกว่าปกติ โดยเฉพาะอุณหภูมิบริเวณมหาสมุทรอินเดีย โดยตั๊กแตน 1 ฝูง สามารถกัดกินพืชผลทางการเกษตรสำหรับประชากรมากกว่า 35,000 ชีวิต ภายใน 1 วัน

ทั้งนี้กลุ่มงานวิจัยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช อธิบายว่าการแพร่ระบาดของเชื้อ ทั้งโรคพืช โรคสัตว์นั้น สภาพแวดล้อม พื้นที่ต่าง ๆ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย และการแพร่ระบาดของโรคนั้น ไม่จำเพาะว่าจะเป็นโรคเฉพาะถิ่น เช่น หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เคลื่อนที่ได้มากกว่า 1,000 กิโลเมตรใน 1-2 วัน เคยมีข้อมูลว่าตัวเต็มวัยของหนอนชนิดนี้ มีพฤติกรรมเคลื่อนย้ายได้ไกลมาก โดยเริ่มระบาดทางแถบทวีปอเมริกา ต่อมาได้แพร่ระบาดมายังทวีปแอฟริกาและระบาดและสร้างความเสียหายต่อหลาย ๆ ประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งงานวิจัยใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา โดยนักกีฏวิทยาแต่ละประเทศ รวมถึงไทยก็ศึกษาคนคว้าวิจัย การป้องโรคอุบัติใหม่ ๆ ไม่จำเพาะว่าจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องในชีวิตผู้คน

นักวิชาการ ศูนย์วิจัยเกษตร ในพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวว่า อยากวิงวอน ให้พ่อแม่พี่น้องเกษตรกร ตระหนักว่าสิ่งสำคัญของทุกเหตุการณ์ เมื่อมีโรคอุบัติใหม่ ไม่ว่าจะในภาคการเกษตร หรือภาคสังคม ควรกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร รับรู้ ติดตามอย่างมีสติ แม้กระทั่งการระบาดของตั๊กแตน เป็น 50-150 ล้านตัว ในบางพื้นที่ก็อย่าผสมปนเปกับสภาพพื้นที่ในบ้านเรา เพียงหวังประโยชน์บางเรื่อง และเมื่อรับรู้แล้ว ต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำหน่วยงานราชการด้วย เช่น เรื่องจำกัดพืช เพาะปลูกช่วงแล้งที่กำลังส่งผลกระทบหลาย ๆ จังหวัด

ร่วมแสดงความคิดเห็น