ท่องเที่ยววูบ 80 % รัฐกระตุ้นไทยเที่ยวไทย

บรรษัทประกันสินเชื่อ อุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วางแนวทางบรรเทาผลกระทบทางธุรกิจ จากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา ให้ได้รับสินเชื่อจากธนาคาร พร้อมจัดมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว เอสเอ็มอี (SMEs)

เพื่อลดผลกระทบทางธุรกิจของผู้ประกอบการจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา บรรษัทประกันสินเชื่อ อุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จึงออกโครงการ “บสย. SMEs สร้างไทย” เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง โดยความร่วมมือจากสถาบันการเงิน

โดยสถาบันการเงินให้สินเชื่อเพื่อเติมทุน เสริมสภาพคล่อง ในวงเงินรวม 60,000 ล้านบาท ผ่าน ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาติ ธนาคารทหารไทย ธนาคารยูโอบี ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารทิสโก้ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์  และธนาคารไทยเครดิต

ซึ่งสถาบันการเงินจะให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี, อัตราดอกเบี้ยพิเศษ, สินเชื่อสูงสุด 3 เท่าของหลักประกัน เป็นต้น โดยผู้ประกอบการ ขอรับคำขอค้ำประกันได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก

โดย กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบมีประมาณ 5,614  ราย มี ภาระค้ำประกัน 10,958 ล้านบาท จำแนกได้ ดังนี้
1. ธุรกิจโรงแรม จำนวน 1,533 ราย ภาระค้ำประกัน 4,461 ล้านบาท
2. ธุรกิจร้านอาหาร จำนวน 3,069 ราย ภาระค้ำประกัน 4,340 ล้านบาท
3. ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจขายตั๋ว จำนวน 1,012 ราย ภาระค้ำประกัน 2,157 ล้านบาท

มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียม ค้ำประกันสินเชื่อ อาจจะช่วยลดภาระค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ประกอบการได้ โดยผู้ประกอบการที่ครบกำหนดชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563  สามารถพักชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อออกไปอีก 12 เดือน

จากการประเมินของ ทีเอ็มบี คาดว่าไวรัสโคโรนา จะกระทบธุรกิจโรงแรม 7,500 ราย ใน 7 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก สูญรายได้กว่า 2 หมื่นล้าน โรงแรมขนาดกลางเล็กกระทบหนัก ภาครัฐและเอกชนต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ

ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อรายได้ภาคการท่องเที่ยว พบว่า ธุรกิจโรงแรมรายได้หายไป 2.84 หมื่นล้านบาท, ธุรกิจค้าปลีกรายได้หายไป 2.84 หมื่นล้านบาท ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหารลดลง 1.89 หมื่นล้านบาท และ ค่าเดินทาง ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว อื่น ๆ รายได้หายไป 2.92 หมื่นล้านบาท

ดังนั้นคุณภาพสินเชื่อธุรกิจโรงแรมขนาดกลางเปราะบาง และมีแนวโน้มแย่ลงจากผลกระทบไวรัส  สะท้อนจาก ณ สิ้นปี 2562 ระดับ NPL อยู่ที่ 5.1% และมีหนี้ SM ที่ต้องเฝ้าระวังสูงถึง 13% รองมาเป็นธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กมีสัดส่วน NPL และหนี้ SM อยู่ที่ 4.1%และ 2.4% ตามลำดับ

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบระดับสูงจะอยู่ในพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมท่องเที่ยว 7 จังหวัดหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ (32%) ภูเก็ต (29%) ชลบุรี (14%) กระบี่ (7%) สุราษฎร์ธานี (7%) เชียงใหม่ (5%) และพังงา(2%) ซึ่งมีผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมรวม 4,763 ราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65% ของจำนวนผู้ประกอบโรงแรมไทยทั้งประเทศ

ดังนั้น ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563  ได้มีการเสนอมาตรการเร่งด่วน ในส่วนมาตรการเยียวยาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวจีนและไทยให้มีการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ยืดเวลาการชำระหนี้ ตลอดจนการลดภาษีน้ำมันเครื่องบินหรือภาษีสนามบิน  โดยเบื้องต้นจะเป็นมาตรการทางด้านการเงินเพื่อช่วยพยุงผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อเข้าไปเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการก่อน

ด้านมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ด้วยการหาตลาดทดแทนต่างประเทศ อาทิ ตลาดยุโรปอย่าง รัสเซีย และยูเครน ตลอดจนตลาดในอาเซียน อย่าง อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นต้น รวมถึงการท่องเที่ยวภายในประเทศโดยเน้นให้มีการจัดการสัมมนาของหน่วยงานราชการ และบริษัทเอกชนให้สามารถนำไปหักภาษีได้ 2 เท่า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในระยะต่อไป

เนื่องจาก จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลง 80 % มีมูลค่าความเสียหายในขณะนี้ 95,000 ล้านบาท ทำให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีการหารือถึงการกระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศหรือไทยเที่ยวไทย

โดย…บ่าวหัวเสือ

ร่วมแสดงความคิดเห็น