เชียงใหม่เร่ง อปท. เสนอแผนแก้ภัยแล้ง ถ้างบไม่เกิน 1.5 ล้านต้องใช้ก่อน มิ.ย.นี้

จังหวัดเชียงใหม่ แจ้งทุกอำเภอ ให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เร่งเสนอแผน ให้สอดคล้องตามที่กระทรวงมหาดไทย รับนโยบายจากรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำ โดยมุ่งเน้นการเตรียมกักเก็บน้ำช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง

รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการจ้างแรงงานในพื้นที่ ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้กำหนดรูปแบบโครงการ ประกอบด้วย การขุดลอก ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม ขุดแหล่งน้ำใหม่ สร้างฝายชะลอน้ำ

ทั้งนี้เอกสารเรื่อง ขอความอนุเคราะห์รวบรวมแผนงาน โครงการน้ำกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ จังหวัดมอบหมายให้นายรัฐพล นราดิศร รอง ผวจ. เชียงใหม่ ลงนาม แจ้งถึงทุกอำเภอ ทุกอปท. ( 5 ก.พ.63 ) นั้น ยังมีรายละเอียดกำหนดเพิ่มเติม 4 ข้อ ให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

โดยพื้นที่เป้าหมายต้องเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง เป็นโครงการที่พร้อมดำเนินการ ทั้งสถานที่ รูปแบบการประเมินราคาก่อสร้าง ที่สำคัญ ประชาชนในพื้นที่เห็นด้วย ไม่เป็นโครงการซ้ำซ้อนกับแผนงานหลัก ๆ ของหน่วยงานราชการ อีกทั้งวงเงินถ้าไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนมิถุนายน 63 นี้

สำหรับการเร่งดำเนินการ ในรูปแบบนี้ ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุในเอกสารโครงการว่า ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบภัยแล้งกว่า 12 ปี ก่อให้เกิดผลกระทบด้านรายได้ของเกษตรกร เสียหายเชิงเศรษฐกิจ สังคมอย่างมากในแต่ละรอบปีที่เผชิญวิกฤติภัยแล้ง

ในช่วงปี 2562/2563 สถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำในแหล่งกักเก็บหลัก ๆ ได้รับผลกระทบ มีน้ำสำรอง น้ำต้นทุนที่จะใช้การได้ เพื่อการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศน์น้อย มีการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินไปแล้ว กว่า 20 จังหวัด 206 อำเภอ 592 ตำบล 5,065 หมู่บ้าน ในภาคเหนือเช่น เชียงราย, น่าน, พะเยา

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้อง ดำเนินโครงการในรูปแบบนี้ ซึ่งแผนงานที่ อปท.จะเสนอขอรับงบนั้น ต้องอยู่ในพื้นที่ประกาศภัยแล้ง ปีนี้ตามที่กรมป้องกันฯ (ปภ.) ประกาศ และแล้งซ้ำซาก จากการวิเคราะห์โดยสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ด้าน ผู้บริหารท้องถิ่นในพื้นที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการแม้จะเร่งด่วนจริง แต่หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ค่อนข้างจำกัดพื้นที่ ในวงแคบ อาจจะเนื่องจากป้องกันไม่ให้ไปซ้ำซ้อนโครงการของหน่วยงานหลัก ทั้ง ชลประทาน, กรมน้ำบาดาล, กรมพัฒนาที่ดิน

เพราะแต่ละหน่วยงาน ก็จะมีกิจกรรม แผนงานหลัก ๆ เรื่องการจัดหา จัดสร้างแหล่งน้ำในชุมชน หมู่บ้านอยู่แล้ว อีกทั้งในส่วนของเชียงใหม่ ทางอบจ. ก็มีเป้าหมาย ขุดเจาะ แหล่งน้ำบาดาล, หน่วยงานพัฒนาที่ดินก็เร่งจัดสร้างบ่อจิ๋ว ตามแผนกระจายในหลาย ๆ อำเภอ ในเขตสันทราย ถ้าวิเคราะห์สภาพพื้นที่แล้ว ยากที่จะได้รับส่วนนี้ เนื่องจากมีเขตชลประทาน มีแหล่งน้ำกระจายในพื้นที่ อย่างเป็นระบบ เป็นเขตเมืองเศรษฐกิจ มากกว่ามีพื้นที่เพาะปลูกไปแล้ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น