ย้อนเวลาของอดีตกาล ชม “หอคำ” ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง

“หอคำ” ตั้งอยู่ภายในไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ภายในหอคำถือได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขนาดย่อม ๆ ก็ว่าได้ เพราะเมื่อเราเข้ามาที่นี่สามารถพบเห็นวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ของคนล้านนา ที่ชั่วชีวิตนี้อาจไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อน สิ่งของบางอย่างเก่าแก่และมีอายุมากกว่าผมหลายสิบปี อาทิ ขันใส่ดอกของคนล้านนาที่ทำจากไม้สักแกะสลักลวดลายสวยงาม, สัตตภัณฑ์และแท่นเชิงเทียนอายุกว่าร้อยปีศิลปะเชียงแสน, กลองหลวงของคนล้านนา รวมถึง “พระพร้าโต้” พระพุทธรูปไม้แกะสลักที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2336 ฯลฯ เหล่านี้ล้วนจัดแสดงอยู่ภายในหอคำได้อย่างกลมกลืน

ก่อนปี พ.ศ. 2515 สมเด็จย่าของชาวไทย ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฏรตามจังหวัดชายแดนในภาคเหนือ พระองค์ทรงพบเห็นความลำบาก แร้นแค้นของชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่า จึงทรงโปรดเกล้าฯให้มีการสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวเขาหันมาปลูกพืชเมืองหนาวทดแทนการปลูกฝิ่น และทรงได้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2515 เพื่อให้การช่วยเหลือและรับซื้อผลผลิตและงานฝีมือศิลปหัตถกรรมของชาวเขา ซึ่งพระองค์ทรงเล็งเห็นว่างานศิลปหัตถกรรมของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะ สมควรส่งเสริมและอนุรักษ์ไว้ให้เป็นอาชีพ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2528 จึงได้เปลี่ยนชื่อจากมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย มาเป็น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เพื่อให้ความช่วยเหลือครอบคลุมแก่ประชาชนในพื้นที่ราบด้วย

ไร่แม่ฟ้าหลวง จึงเป็นศูนย์กลางการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และได้มีการจัดสร้างหอคำ ขึ้นเมื่อปี 2530 ในบริเวณไร่แม่ฟ้าหลวง เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านรวบรวมศิลปะวัตถุให้คนรุ่นหลังได้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าอาจารย์นคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการไร่แม่ฟ้าหลวง กล่าวถึง การสร้างหอคำว่า หอคำหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2530 ซึ่งกว่าจะหาไม้มาสร้างได้ต้องใช้ไม้จากบ้านเก่าถึง 32 หลัง โดยเฉพาะแป้นเกล็ดไม้สักมุงหลังคา มีจำนวนถึง 3 แสนแผ่นและต้องใช้เวลาสร้างนานหลายปี

ด้านสถาปัตยกรรม จะเน้นเรื่องความสวยงาม มองดูแล้วรู้สึกว่าเป็นหอคำ โดยไม่ต้องปิดทองทั้งหลัง ถัดมาจะเน้นถึงความเรียบง่าย ไม่ตกแต่งรกรุงรัง ไม้ที่ใช้ก็ต้องการให้ดูเป็นไม้ ไม่ชุบย้อมหรือทาด้วยแลคเกอร์ ส่วนรอยปุปะที่เห็นก็ต้องการให้เป็นเช่นนั้น จะได้รู้ว่าเราใช้ไม้จากบ้านเก่าไม่ใช่เอาไม้ใหม่มาสร้าง แต่ต้องการจะใช้ประโยชน์จากไม้ที่มีอยู่ให้คุ้มค่า

ในบริเวณพื้นที่กว่าร้อยไร่ของไร่แม่ฟ้าหลวง ถูกจัดไว้อย่างผสมกลมกลืนกับธรรมชาติ ซุกซ่อนตัวอยู่ในท่ามกลางแมกไม้เขียวขจี โดยเฉพาะหอคำที่ตั้งอยู่ริมน้ำ สร้างความชุ่มชื่นให้แก่ผู้ที่เดินทางเข้ามาชม การเยี่ยมชมหอคำในวันนี้ เป็นการย้อนรอยอดีตแห่งกาลเวลาของคนล้านนา และนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเมื่อศิลปวัตถุพื้นบ้านรวมถึงวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นมรดกของแผ่นดินจะต้องถูกทอดทิ้งปล่อยให้กระจัดกระจายอย่างเปล่าดาย หอคำ จึงเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมรักษาศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้เอาไว้

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น