แผนเกษตรสร้างสรรค์ ตั้งเป้ายกระดับมูลค่าผลผลิตภาคเหนือปีนี้

กรรมการสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ (เชียงใหม่) กล่าวว่า ในภาวะที่อุตสาหกรรมภาคการท่องเที่ยวบ้านเราชะลอตัว การพลิกวิกฤติให้เกิดโอกาส ด้วยการหันมาสร้างเสริมภาคการผลิต ภาคการลงทุนด้านอื่น รองรับนั้น ที่ผ่าน ๆ มาในการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน ในเชียงใหม่มีหลายประเด็นที่หารือร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพลิกแผนสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการมุ่งส่งเสริมให้ภาคเกษตรกรรม เป็นเกษตรอุตสาหกรรม เกิดการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นการป้องกันผลผลิตล้นตลาด จนทำให้ราคาผลผลิตแต่ละฤดูกาลตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม การผลักดันเกษตรสู่อุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าในพื้นที่เชียงใหม่ แหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็น ลำไย, ข้าวโพด ปัญหาที่พบ คือ การจัดทำมาตรฐาน GAP เกษตรอินทรีย์ไม่สามารถทำได้เต็มพื้นที่ เนื่องจากมาตรการคุมผลผลิต แหล่งที่มาตามกฎหมายนั้น มีประเด็นเกี่ยวข้องถึงการต้องแสดงเอกสารสิทธิ์ แหล่งปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย และเป็นที่ทราบกันดีว่า การทำเกษตรของชาวบ้าน รายย่อย ๆ แล้วรวบรวมกันผ่านล้งกลาง พ่อค้ารับซื้อ อยู่ในระหว่างการหาทางแก้ไข ผลผลิตที่ขาดนวัตกรรม เทคโนโลยีเข้าไปพัฒนา ทำให้คุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์ จนส่งผลเรื่องราคา ในส่วนเกษตรกรที่มีผลผลิตเฉพาะกลุ่ม มีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ได้รับการสนับสนุนก็จะมีลักษณะมุ่งหากำไรจากวงจรธุรกิจ ไม่มีการแบ่งปันเกษตรพื้นถิ่น ที่ยังเข้าไม่ถึงองค์ความรู้ ต้นทุน ตลาด

คณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) กล่าวว่า งบปี 2563 นี้ มีแผนงานที่กลุ่มจังหวัดเสนอขอไปราว ๆ 696 ล้านบาท กระบวนการที่สำนักงบฯ กระทั่งคณะกรรมาธิการฯ ซักถาม พร้อมตั้งข้อสังเกตุเรื่องงบค่อนข้างใช้ในกิจกรรมจ้างเหมาค่อนข้างมาก อีกทั้งข้อเสนอให้ปรับลดหรือพิจารณาดำเนินการในแผนงานที่เหมาะสม เช่น สัดส่วนงบพืชเศรษฐกิจ ระหว่าง ลำไยกับสตรอว์เบอร์รี, การจัดงบซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงาน เป็นต้น

โครงการพัฒนาปีนี้ ในด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย เกษตรแปรรูป ที่มุ่งสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มต้องได้รับการตอบสนอง ชัดเจน ผ่านการจัดสรรงบเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรสร้างสรรค์ ทั้งโครงการสร้างเสริมพัฒนาสวนสตรอว์เบอร์รีปลอดภัย เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว, การยกระดับมาตรฐานการผลิต การแปรรูปน้ำผึ้งคุณภาพสูงล้านนา, โครงการส่งเสริมศักยภาพด้านการตลาดในระบบธุรกิจสินค้าเกษตร และหลาย ๆ กิจกรรมพัฒนา

กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ เชียงใหม่ กล่าวว่า เท่าที่ทราบแผนพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น โครงการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรม หรือฮับกาแฟ งบกว่า 28 ล้านบาท อยากเสนอให้มีการกระจายงบสู่แหล่งผลิต เพื่อคุณภาพ มากกว่าเน้นกิจกรรมอีเว้นท์ โปรโมท สร้างภาพลักษณ์ เพราะที่ผ่าน ๆ มา การดำเนินกิจกรรมเพื่อพืชเศรษฐกิจหลัก ๆ ทั้ง ลำไย, ลิ้นจี่, สตรอว์เบอร์รี น่าจะสร้างบทเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางดำเนินงานที่ตรงเป้าหมายขึ้น ไม่ให้เกิดภาวะผลผลิตล้นตลาด ราคารับซื้อตกต่ำ หรือวงจรปัญหาเดิม ๆ

อดีตเกษตรจังหวัดลำพูน กล่าวว่า โครงการพัฒนาสวนผลผลิตเพื่อการท่องเที่ยว ในภาวะเช่นนี้ คงต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ช่วงที่ผ่านมา ทัวร์จีน เที่ยวชิม ช้อป ซื้อลำไยในสวน หรือผลไม้อื่น ๆ เมื่อภาคการท่องเที่ยวชะลอตัว ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาระยะหนึ่ง อาจต้องปรับเปลี่ยนไปสู่ตลาดเกษตรแปรรูป การสร้างมูลค่าเพิ่มด้านอื่น มากกว่าเน้นรอการท่องเที่ยวเช่นที่เคยทำมาหรือจัดทำแผนไว้

ร่วมแสดงความคิดเห็น