อธิบดีกรมควบคุมมลพิษขึ้นเหนือ เป็นประธานเปิด และมอบนโยบายบริหาร จัดการขยะพลาสติก

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมวบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นประธานพิธีเปิด และมอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติก ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการงดใช้ถุงพลาสติกในตลาดสด ร้านขายของชำ และแนวทางการจัดทำกฎหมายจัดการขยะพลาสติก ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมเชียงใหม่ ออร์คิด จังหวัดเชียงใหม่

โดยมีนายวีระพันธ์ ดีอ่อน ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ และผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในพื้นที่ภาคเหนือเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ นักกฎหมาย นักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด ร้านขายของชำ และประชาชน มากกว่า 150 คน

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติกกลายเป็นวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่นานาชาติให้ความสำคัญ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดหรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน และสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียงเฉลี่ยปีละ 0.5 ล้านตันเท่านั้น รัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573

เพื่อใช้เป็นกรอบและทิศทางการดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ ประกอบด้วย 2 เป้าหมาย เป้าหมายที่ 1 คือ การลด เลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะดำเนินการกับประเภทและชนิดของพลาสติก ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ซึ่งกำหนดการเลิกใช้พลาสติก 3 ชนิด ภายในปี 2562 ได้แก่ 1) พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม 2) ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ๊อกโซ่ และ3) ไมโครบีดส์ กำหนดเลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด ภายในปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนา น้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) และหลอดพลาสติก เป้าหมายที่ 2 มีการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ ร้อยละ 100 ภายในปี พ.ศ. 2570

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดบางหรือถุงก๊อบแก๊บ เป็น 1 ใน 7 ชนิดของพลาสติกเป้าหมายที่ต้องเลิกใช้ภายในปี 2565 โดยมีปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทย 45,000 ล้านใบต่อปี ประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ร้อยละ 30 ร้านขายของชำ ร้อยละ 30 และตลาดสด ร้อยละ 40 ในปี 2563 ทส. ได้ร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ กว่า 90 ราย ในการงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วกับลูกค้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป พร้อมทั้งยังเสนอแนะแนวทางการปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานสามารถสำเร็จได้ตามวัตถุประสงค์ เป็นความสำเร็จในระดับประเทศ

จากการติดตามประเมินผลมาตรการงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วใน ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ ระหว่างวันที่1 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า ห้างฯ งดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วตามนโยบายรัฐ ร้อยละ 97 ยังมีการให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ร้อยละ 3 โดยห้างฯ มีการนำถุงอื่น ๆ เช่น ถุงสปันบอนด์ ถุงผ้า ถุงพลาสติกรูปทรงอื่น ถุงพลาสติกมีข้อความรักษ์โลก ถุงกระดาษ มาวางจำหน่ายให้กับลูกค้า

สำหรับ Feedback ของลูกค้า ต่อมาตรการงดให้ถุงของห้างฯ พบว่า ให้ความร่วมมือ ร้อยละ 61 เฉย ๆ ร้อยละ 36 และไม่ให้ความร่วมมือเพียงร้อยละ 3 ดังนั้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานการจัดการพลาสติก ให้เกิดผลอย่างเป็นระบบครบวงจร ในวันนี้เราจะขอความร่วมมือกับจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในการขับเคลื่อนการงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดบาง หรือถุงก๊อบแก๊บในตลาดสด และร้านขายของชำที่อยู่ในพื้นที่ โดยจัดให้มีตลาดสดต้นแบบที่งดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว อย่างน้อย จังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบ

สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการงดใช้ถุงพลาสติกในตลาดสดและร้านขายของชำ และแนวทางการจัดทำกฎหมายจัดการขยะพลาสติกในครั้งที่ 2 นี้ เป็นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำไปประกอบการพิจารณาในกระบวนการจัดทำกฎหมายจัดการขยะพลาสติกต่อไป โดยครั้งต่อไปเป็น ครั้งที่ 3 ในวันที่ 3 มีนาคม 2563 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และครั้งที่ 4 ในวันที่ 23 เมษายน 2563 ณ จังหวัดขอนแก่น

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจะลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน และประชาชน ในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยการใช้ซ้ำเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น