แม่โจ้โพลล์ สรุปความเห็นคนเชียงใหม่ กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา

แม่โจ้โพลล์ภายใต้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และพยากรณ์ทางการเกษตร ได้สำรวจความคิดเห็นของคนเชียงใหม่ จำนวน 828 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 3 – 7 กุมภาพันธ์ 2563 ในหัวข้อ “ชาวเชียงใหม่กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสอบถามชาวเชียงใหม่เกี่ยวกับความวิตกกังวล ความรู้ พฤติกรรม และความเชื่อมั่นต่อมาตรการ การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาของภาครัฐ สรุปผลได้ดังนี้

จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับการรับทราบข่าวสาร/สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ในประเทศไทยและจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 98.55 ทราบข่าวสาร/สถานการณ์ มีเพียง ร้อยละ 1.45 ที่ไม่ทราบข่าวสาร/สถานการณ์ดังกล่าว

เมื่อสอบถามถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.53 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา โดยร้อยละ 69.81 มีความรู้ในเรื่องสาเหตุของการติดเชื้อ ร้อยละ 69.08 มีความรู้ในเรื่องอาการเมื่อเกิดการติดเชื้อ ร้อยละ 78.14 มีความรู้ในเรื่องวิธีป้องกันการติดเชื้อ ร้อยละ 66.79 มีความรู้ในเรื่องความเสี่ยงและสถานการณ์การติดเชื้อ และร้อยละ 1.09 มีความรู้ในเรื่องอื่น ๆ เช่น วิธีการรักษา เป็นต้น มีเพียง ร้อยละ 11.47 ที่ไม่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าว

โดยเมื่อสอบถามถึงแหล่งความรู้/ข่าวสารเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.14 ได้รับความรู้จากสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม รองลงมา ร้อยละ 65.46 ได้รับความรู้จากโทรทัศน์ ร้อยละ 28.99 ได้รับความรู้จากญาติ พี่น้อง และคนในครอบครัว ร้อยละ 12.20 ได้รับความรู้จากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และร้อยละ 1.93 ได้รับความรู้จากแหล่งอื่น ๆ เช่น เพื่อนร่วมงาน และลูกค้าที่มาใช้บริการ ตามลำดับ

เมื่อสอบถามถึงความเสี่ยงของจังหวัดเชียงใหม่ ต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.38 มีความคิดเห็นว่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่บาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยร้อยละ 62.53 คิดว่ามีความเสี่ยงมาก ร้อยละ 32.96 คิดว่ามีความเสี่ยงปานกลาง และร้อยละ 4.51 คิดว่ามีความเสี่ยงน้อย ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 3.62 ที่มีความคิดเห็นว่า จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา

เมื่อสอบถามถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.89 มีความวิตกกังวล โดยร้อยละ 53.53 มีความวิตกกังวลมาก ร้อยละ 42.12 มีความวิตกกังวลปานกลาง และร้อยละ 4.35 มีความวิตกกังวลน้อย ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 11.11 ที่ไม่มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว และเมื่อสอบถามถึงการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตประจำวัน

ในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโคโรนาในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 84.30 ใช้วิธีสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเดินทางออกจากที่พัก รองลงมา ร้อยละ 73.79 ใช้วิธีหลีกเลี่ยงกิจกรรมในสถานที่คนหนาแน่น เช่น การช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าหรือตลาดนัด ร้อยละ 68.60 ใช้วิธีพักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาความสะอาดของร่างกาย เช่น ล้างมือเป็นประจำ ร้อยละ 64.13 ใช้วิธีรับประทานเฉพาะอาหารที่ปรุงสุก กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ร้อยละ 61.11 ใช้วิธีไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้มีอาการทางเดินหายใจ หรือมีอาการหวัด ร้อยละ 38.41 ใช้วิธีงดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ร้อยละ 37.92 ใช้วิธีงดการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ร้อยละ 34.18 ใช้วิธีหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์หรือสินค้าจากสัตว์ที่อาจเป็นพาหะ ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 15.22 ที่ดำเนินชีวิตตามปกติ ไม่มีการปรับเปลี่ยนใด ๆ

ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการการป้องกัน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในปัจจุบันของภาครัฐ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.79 มีความเชื่อมั่นในระดับน้อย รองลงมา ร้อยละ 27.78 มีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง มีเพียงร้อยละ 27.78 ที่มีความเชื่อมั่นในระดับมากจะเห็นได้ว่าชาวเชียงใหม่ส่วนใหญ่ ติดตามข้อมูลข่าวสาร และตื่นตัวต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา

เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ประกอบกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ และความไม่มั่นใจต่อมาตรการ การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในปัจจุบันของภาครัฐ จึงทำให้ชาวเชียงใหม่มีการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าว ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การหลีกเลี่ยงกิจกรรมในสถานที่คนหนาแน่น การช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าหรือตลาดนัด และงดกิจกรรมการท่องเที่ยว ทำให้ประชาชนไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอย ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดและประเทศ

ด้วยเหตุนี้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงควรให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการ การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดกรองนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ซึ่งควรให้มีการกำหนดมาตรการฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ ในทุกสนามบินระดับนานาชาติ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลรายละเอียดมาตรการนั้น ๆ อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนภายในประเทศอย่างเร่งด่วน อีกทั้งควรดำเนินการไปพร้อมกับการส่งเสริมความรู้ในการปฎิบัติตน เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างถูกวิธี ซึ่งจะเป็นการควบคุมดูแลทั้งในภาพใหญ่และภาพเล็ก

(ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทรศัพท์ 053-875265)

ร่วมแสดงความคิดเห็น