ปมคิดคนละแบบ ดึงแผนข่วงหลวงล่าช้า หวั่นงบก้อนโตหายวับ

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผย จากคณะทำงานโครงการข่วงหลวงเวียงแก้ว (บริเวณทัณฑสถานหญิงเดิม) ในวงเงิน 158 ล้านบาท จากงบกลาง จนกระทั่งมีการประกวดราคาจ้างก่อสร้าง ช่วงเมษายน 2560 ราคากลาง 100,783,000 บาท ซึ่ง บ.ทำเลไทย ธรรมชาติ ชนะด้วยราคาต่ำสุด 95 ล้านบาท มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขถึง 3 ครั้ง

เครือข่ายอนุรักษ์เมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องตำนาน ประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปของพื้นที่ ซึ่งจะมีแผนพัฒนานั้น เชื่อว่า ประชาชน ผู้สนใจมรดกเมืองรับรู้ รวมถึงข้อมูล หลักฐานที่ต้องค้นหาคำตอบทางโบราณคดีอันเป็นที่สิ้นสุด ยอมรับกัน แต่สาระสำคัญคือข้อท้วงติง ตั้งแต่เริ่มโครงการนี้ จากจุดเริ่มที่ชาวเชียงใหม่และท้องถิ่น ต่อสู้ เรียกร้องขอใช้พื้นที่จากกรมราชทัณฑ์ จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานรับผิดชอบ โดยให้จังหวัดเป็นศูนย์กลาง มีการประกวดแบบตามที่ภาคประชาสังคม และชาวเชียงใหม่ส่วนใหญ่มีส่วนร่วมจนได้แบบชนะเลิศ มีการมอบรางวัลเป็นที่เรียบร้อย พร้อม ๆ กับการประสานงานให้กรมศิลปากร เข้ามาขุดตรวจ รวบรวมหลักฐานทางด้านโบราณคดี ตามอำนาจหน้าที่ โดยมอบหมายให้ อ.ภัคพดี อยู่คงดี นักโบราณคดีเชี่ยวชาญ และ อ.วสุ โปษยะนันทน์ สถาปนิกเชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ตรวจสอบ เมื่อวันที่ 4 และ 8 พฤษภาคม 2560 ร่วมกับคณะทำงานโครงการนี้ ของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่

คณะทำงานฯ ตั้งข้อสังเกตว่ามติที่เห็นพ้องต้องกันนั้น งานพัฒนากับงานโบราณคดีต้องไปด้วยกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากที่สุด ฝ่ายกรมศิลปากร เห็นควรให้เก็บอาคารบัญชาการ อาคารเฮือนเพ็ญ อาคารแว่นแก้วไว้ รวมถึงแนวกำแพง หอคอยมุมเรือนจำ พร้อม ๆ กับข้ออ้างอิงจากฝ่ายนักวิชาการประวัติศาสตร์ ที่ว่าในรายงานการตรวจราชการมณฑลพายัพ ของสมเด็จในกรมพระองค์หนึ่ง ต่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 พรรณาว่า “นี่คือคุกที่สวยที่สุดเท่าที่เคยเห็น สร้างด้วยไม้สักทองเนื้อดี อาคารเหล่านี้มีคุณค่าในฐานะ สถาปัตยกรรมยุคโคโลเนียล เมื่อ 100 ปีก่อน”

ในฟากฝั่งหน่วยงานผู้รับผิดชอบแผน และชาวเชียงใหม่บางส่วนเสนอว่า หากจะมีการรื้ออาคารแล้วนำไปประกอบสร้างขึ้นใหม่ การสืบเสาะหาหลักฐานการเปิดพื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดี ต้องจำกัดพื้นที่และระยะเวลา เพื่อให้ขั้นตอนอื่น ๆ ดำเนินไปได้ แบบที่ชนะการประกวด จนนำไปสู่การประกวดราคาจ้างก่อสร้าง ข้อสรุปเป็นอันยุติว่า จะพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะและแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์เชียงใหม่ ตามเสียงส่วนใหญ่ แต่ความคิดเห็นที่แตกต่างในมุมมองของหน่วยงาน ผู้รับผิดชอบ กับประชาชนในพื้นที่ เริ่มตั้งธงเป้าหมายรูปแบบโครงการไม่เหมือนกัน

ทีมข่าวสอบถาม ประชาชนชาวเชียงใหม่ บริเวณพื้นที่ใกล้เคียง กล่าวว่า ถ้าย้อนเวลาที่เริ่มต่อสู้เรียกร้องขอย้ายเรือนจำออกไป เริ่มจุดพลุกันตั้งแต่ ปี 2510 แล้ว จนประกวดราคาช่วงเมษายน ปี 2560 ถ้านับจนถึงวันนี้ก็น่าจะร่วม ๆ 53 ปี แผนดำเนินการน่าจะได้ข้อยุติ มีความก้าวหน้าในแนวทางสร้างสรรค์โครงการเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้แล้ว “หากปล่อยให้มีการเสวนา เปิดรับข้อเสนอ มีการทบทวน แก้ไข ปรับแบบไปเรื่อย ๆ ราคาที่ตกลงก่อสร้าง กับงบที่ได้รับจัดสรรมา ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลง ท้ายที่สุด ไม่ลงมือทำอะไร สถานที่จะกลายเป็นเพียงป่าอิฐ วัชพืชกลางเมืองเป็นพื้นที่แสดงฝีมือด้าน กราฟฟิตี้ ศิลปะพ่นสี สตรีท อาร์ท งบหล่นหายไปอีก”

ร่วมแสดงความคิดเห็น