องคมนตรี พล.อ. กัมปนาท รุดดิษฐ์ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 องคมนตรี พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ ได้เดินทางไปยังศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ซึ่งเริ่มดำเนินงานเมื่อปี พ.ศ. 2522 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นครั้งแรก ทรงเยี่ยมราษฎรชาวเขาในเขตบ้านวัดจันทร์ ทรงทราบถึงความทุกข์ยากของชาวเขาในพื้นที่

ซึ่งมีอาชีพทำนาในพื้นที่ลุ่มระหว่างหุบเขา มีการถางป่าทำไร่เลื่อนลอย เส้นทางคมนาคมยากลำบาก จึงมีพระราชดำริให้มูลนิธิโครงการหลวงเข้ามาพัฒนาบ้านวัดจันทร์และหมู่บ้านใกล้เคียง โดยการนำพืชเขตหนาว มาส่งเสริมแก่ราษฎรทดแทนการทำไร่เลื่อนไร่เลื่อนลอย และพัฒนาปัจจัยพื้นฐานในชุมชนให้มีมาตรฐาน

ลักษณะพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ เป็นพื้นที่ราบระหว่างหุบเขาเล็กน้อยตามแนวลำห้วย โดยทั่วไปเป็นป่าสนสองใบและสนสามใบ ซึ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นแหล่งต้นกำเนิดของแม่น้ำ แม่แจ่ม มีประชากรในความรับผิดชอบของศูนย์ฯ จำนวน 10 หมู่บ้าน 7 หย่อมบ้าน รวม 2,337 ครัวเรือน ประชากร 6,357 คน เป็นชาวม้งและปกาเกอะญอ และศูนย์ฯ วัดจันทร์ยังได้ขยายงานส่งเสริมอาชีพออกไปอีก จำนวน 8 หมู่บ้าน 3 หย่อมบ้าน 2,132 ครัวเรือน จำนวน ประชากร 8,042 คน ซึ่งเป็นชาวปกาเกอะญอ และลีซู

การดำเนินงานของศูนย์ฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพผลผลิตของเกษตรกร โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ชนิดต่าง ๆ ภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย ได้แก่ ระบบมาตรฐานการเพาะปลูกพืชที่ดี (GAP) ระบบมาตรฐานอินทรีย์ และระบบมาตรฐานด้านปศุสัตว์ ปัจจุบัน ศูนย์ฯ วัดจันทร์ มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิก จำนวน 620 ราย ปลูกพืชผัก ไม้ผล กาแฟ จำนวน 25 ชนิด มีพื้นที่ปลูกพืชรวม 806.25 ไร่ ผลผลิตหลักของศูนย์ฯ ได้แก่ ฟักทองญี่ปุ่น กะหล่ำปลีรูปหัวใจ กะหล่ำปลีแดง ถั่วลันเตาหวาน อาโวคาโด พลับ บ๊วย เสาวรส เคพกูสเบอร์รี กาแฟอาราบิก้า และไก่เบรส

นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ยังส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการปลูกป่าชาวบ้านตามแนวพระราชดำริป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การปลูกหญ้าแฝกเพื่อลดการพังทลายของดิน และการรวมกลุ่มอนุรักษ์งานหัตถกรรม จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรและกิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มยุวเกษตรกร รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเข้มแข็งของคนและชุมชน โครงการหมู่บ้านปลอดยาเสพติด การพัฒนาสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนชาวเขา ตลอดจนเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรที่สูงแก่นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป

โดยองคมนตรีได้มอบนโยบาย ให้กับหน่วยงานราชการในพื้นที่ ทำงานบูรณาการร่วมกันเพื่อสนองตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และให้เป็นไปตามพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้เพียงพอต่อราษฎรที่จะต้องใช้น้ำในการทำการเกษตร เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลแห้งแล้ง เพราะน้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชีวิต ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม องคมนตรีได้เข้าชมกระบวนการผลิตชีวภัณฑ์ของศูนย์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จัดทำขึ้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกรนำผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์ และสารสกัดจากธรรมชาติที่ปลอดภัยมาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืช และเยี่ยมชมแปลงสาธิตการปลูกผักอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรบ้านเด่น

จากนั้นองคมนตรีเดินทางต่อไปยังศูนย์ศิลปาชีพวัดบ้านจันทร์ ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ฝึกสอนและพัฒนาฝีมือให้กับสมาชิก เพื่อสร้างรายได้และอนุรักษ์ผ้าทอกระเหรี่ยงแบบโบราณ จนผลิตภัณฑ์ผ้าทอของกลุ่มสามารถเป็นสินค้าชุมชนระดับ O-TOP ของอำเภอ ก่อนเดินทางกลับ

ร่วมแสดงความคิดเห็น