กอ.ปภ.ก. ประสาน 25 จังหวัด รับมือสภาพอากาศแปรปรวน ช่วงวันที่ 16-20 ก.พ. 63

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอ.ปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 25 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งจะมีอากาศหนาว ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ 2563 โดยประสานจังหวัดและศูนย์ ปภ.เขต ในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสภาพอากาศ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่เครื่องจักรกลสาธารณภัย และเครื่องมืออุปกรณ์เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอ.ปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศและตรวจสอบสภาพอากาศ กับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า วันที่ 16–20 กุมภาพันธ์ 2563 ประเทศไทยตอนบน จะมีอากาศเย็นถึงหนาวและลมแรง โดยจะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในระยะแรก ส่วนวันที่ 17–20 กุมภาพันธ์ 2563 ภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้น อ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป มีคลื่นสูง 2–3 เมตร กอ.ปภ.ก. จึงได้ประสานจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมสถานการณ์ภัยในช่วงวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ 2563

แยกเป็น พื้นที่เฝ้าระวังอากาศหนาวและลมแรง ได้แก่
ภาคเหนือ 7 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และตาก
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ประกอบด้วย เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร
พื้นที่เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนอง ได้แก่
ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ประกอบด้วย ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ได้แก่
ภาคใต้ 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส

ทั้งนี้ กอ.ปภ.ก ได้กำชับให้หน่วยปฏิบัติในพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน ระดับน้ำและแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด อีกทั้งตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับ

ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตร ได้รับความเสียหาย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน อีกทั้งกำชับสถานประกอบการในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลแจ้งเตือนนักท่องเที่ยว ให้ระมัดระวังอันตรายจากคลื่นลมแรง

นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดูแลรักษาสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศหนาว และเพิ่มความระมัดระวังอัคคีภัย จากการก่อไฟให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น