ไหว้พระที่วัดเก่า 100 ปี เมืองแม่แจ่ม

เมื่อเอ่ยชื่อของเมืองเล็ก ๆ ที่เงียบสงบในอ้อมกอดของขุนเขาแล้ว หลายคนคงจะนึกถึงอำเภอแม่แจ่ม ด้วยการเดินทางที่ค่อนข้างลำบาก ถนนหนทางคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา จึงทำให้เมืองนี้ อบอวลไปด้วยกลิ่นไอของธรรมชาติและวัฒนธรรมดั่งเดิมของผู้คน

เมืองแม่แจ่มมีอดีตอันยาวนาน มีผู้คนอาศัยจากหลายเชื้อชาติ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงรักษาไว้ก็คือ วัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของคนแม่แจ่มยังคงเรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยนัยยะตามหลักพุทธธรรมคำสอน วัฒนธรรมของคนแม่แจ่มได้รับการกล่าวขานถึงมากพอ ๆ กับผ้าซิ่นตีนจก เนื่องจากการดำรงอยู่ของกลุ่มคนหลากหลายกลุ่ม จึงทำให้วัฒนธรรมของคนแม่แจ่มผสมผสานกลมกลืนกัน ดังปรากฏได้จากศิลปวัฒนธรรมของวัดต่าง ๆ เช่น วัดยางหลวง เป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอแม่แจ่ม ความสวยงามของวัดนี้อยู่ที่อุโบสถ นอกจากนั้นที่วัดพุทธเอ้นมีอุโบสถกลางน้ำที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือว่าเป็นอุโบสถกลางน้ำที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

ในบริเวณวัดป่าแดด มีหอไตรอายุร้อยกว่าปี ภายในมีคัมภีร์ใบลานรุ่นเก่าเก็บไว้ รูปทรงของหอไตรวัดป่าแดด สร้างแบบก่ออิฐถือปูนภายนอกมีลายปูนปั้นรูปเทวดา ซึ่งถือเป็นรูปแบบดั่งเดิมของหอไตรในล้านนา ภายในมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังอยู่ 8 ภาพ เขียนเรื่องราวพุทธประวัติ เช่นเรื่อง พระเวสสันดร, เล่าวิฑูรบัณฑิต, นิทานพื้นบ้านย่าปู่จี่ (จันทรคราส), มโหสถชาดก และไตรภูมิ เป็นต้น

นอกจากวัดป่าแดดและวัดยางหลวงแล้ว ยังมีวัดสำคัญอีกวัดหนึ่งในแม่แจ่มที่หลายคนมักจะเดินทางมากราบไหว้ก็ คือ วัดพุทธเอ้น วัดนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองแม่แจ่ม ประมาณ 2 กิโลเมตร มีเรื่องเล่าในอดีตเกี่ยวกับวัดนี้ว่า เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดินแดนแห่งนี้ พระองค์ได้ประทับอยู่ที่เชิงดอยใกล้ ๆ กับวัด หลังจากที่พระองค์ได้ฉันอาหารเช้าแล้ว จึงทรงบ้วนปากแล้วหันหน้ามาทางวัด น้ำที่บ้วนออกจากปาก เมื่อตกถึงพื้น ก็ปรากฏเป็นบ่อน้ำทิพย์ขึ้น จากนั้นพระองค์จึงได้ตะโกนให้ชาวบ้านที่บริเวณนี้ให้สร้างวัดขึ้นแล้ว เรียกชื่อวัดนั้นว่า วัดพุทธเอิ้น (คำว่า เอิ้น ความหมายในภาษาเหนือหมายถึง ตะโกน) ต่อมาวัดนี้จึงเพี้ยนเป็นวัดพุทธเอ้น

โบราณสถานที่สำคัญของวัดพุทธเอ้น คือ วิหารไม้กลางน้ำ ซึ่งมีแห่งเดียวในแม่แจ่ม สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวแม่แจ่มเล่าว่า เห็นมีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กรุ่นปู่ย่าตาทวดแล้ว พ่ออุ้ยชูใจ สมบูรณ์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับวัดพุทธเอ้น บอกว่า เมื่อก่อนพระสงฆ์ต่าง ๆ ในแม่แจ่มจะมาใช้วิหารกลางน้ำหลังนี้ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาแต่เพียงแห่งเดียว เพราะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ปัจจุบันทางกรมศิลปากรได้เข้ามาอนุรักษ์และขึ้นทะเบียนวิหารกลางน้ำหลังนี้เป็นโบราณสถานแล้ว

วัดพุทธเอ้น เคยมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของศรัทธาชาวบ้านที่อยากจะได้ภาพเขียนแบบใหม่ จึงได้มีการลบภาพเขียนจิตรกรรมรุ่นเก่าทิ้งแล้วเขียนภาพสมัยใหม่แทน แต่ยังคงเหลือเค้าโครงและร่องรอยของภาพเก่าอยู่ ตรงด้านบนประตูทางเข้าวิหารด้านข้าง ซึ่งก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า น่าจะอยู่ในสมัยเดียวกับภาพเขียนจิตรกรรมของวัดป่าแดด

แม้ว่าสังคมของชาวแม่แจ่มจะเปลี่ยนไปตามกระแส แต่ผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองนี้ยังดำเนินชีวิตตามแบบหมู่บ้านในชนบท หลายคนที่อยากจะสัมผัสกลิ่นไอของความเป็นธรรมชาติและความเรียบง่ายของผู้คน อยากแนะนำให้ลองมาเยือนเมืองแม่แจ่มสักครั้งแล้วท่านจะรู้ว่าแท้จริงในความเรียบง่ายของผู้คน ก็มีความงดงามแฝงเอาไว้

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น