วัดพระหลวง อ.สูงเม่น เชิญเที่ยวงานประเพณีนมัสการพระธาตุเนิ้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานมาจาก จ.แพร่ มาเมื่อ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 พระจันทร์ คเวสโก เจ้าอาวาสวัดพระหลวง ต.พระหลวง อ.สูงเม่น จ.แพร่ เขริญพรพรว่า ทางคณะศรัทธาวัดพระหลวงได้กำหนดจัดงานประเพณีนมัสการพระธาตุเนิ้ง ประจำปี 2563 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2563 ที่วัดพระหลวง ตำบลพระหลวง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่มีพระธาตุเนิ้ง (พระธาตุเอียง) เป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ โดยวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 16.30 น. จะมีขบวนแห่เครื่องสักการะองค์พระธาตุ และมีพิธีเปิดงานของชาวพระหลวง มีพิธีทางศาสนา และการแสดงศิลปวัฒนธรม วิถีชีวิตของชุมชนพระหลวง และมหรสพในทุกวัน

วัดพระหลวง เป็นวัดเก่าแก่ที่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสร้างขึ้นในสมัยใด ตามตำนานเล่าว่า แต่เดิมหมู่บ้านและวัดพระหลวงแห่งนี้ เคยเป็นป่าใหญ่ดงหลวงมาก่อน มีต้นไม้ ขึ้นหนาทึบมีสัตว์ป่าชุกชุม ในจำนวนนั้นก็มีงูหลวงอยู่ตัวหนึ่ง จะคอยจับสัตว์ต่าง ๆ กินเป็นอาหาร ครั้งหนึ่งมีพวกพ่อค้าชาวจีนฮ่อ นำสินค้าบรรทุกหลังม้ามาขาย ได้ปล่อยม้าให้หากินบริเวณใกล้เคียง ม้าบางตัวที่เข้าไปในป่าคงหลวงก็จะถูกงูหลวงรัดกินเป็นอาหาร พ่อค้าชาวจีนฮ่อ จึงช่วยกันจับงูหลวง โดยเอาไม้ไผ่มาสานขัดแตะเป็นตาแสง 6 เหลี่ยม ซึ่งชาวเหนือเรียกว่า “ตาแหลว” ไปปิดปากรูเอาไว้ พอจับได้แล้วก็ฆ่างู แล้วตัดซากงูออกเป็นท่อน ๆ กองเอาไว้ใกล้ ๆ รูงู หลังจากนั้นพ่อค้าชาวจีนฮ่อก็ไปค้าขายตามปกติ พอถึงเวลาเดินทางกลับก็พากันไปดูซากงูที่กองทิ้งเอาไว้ ปรากฏว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง เพราะซากงูกลายเป็นท่อนเงินท่อนทอง ก็เลยพากันแบ่งท่อนเงินท่อนทองออกเป็น 3 ส่วน พวกพ่อค้าเอาไปแบ่งกัน 1 ส่วน นำไปถวายเจ้าเมืองของตนเอง 1 ส่วน และเอาฝังไว้ที่บริเวณรูงูนั้น 1 ส่วน

ต่อมามีกลุ่มชนคณะหนึ่ง พากันมาบุกเบิก ป่าดงหลวง มาสร้างบ้านเรือน สร้างวัด พร้อมทั้งสร้างพระเจดีย์ครอบรูงูไว้ จึงเกิดเป็นหมู่บ้านและวัดขึ้น และปี 2330 พญาเมืองไจย ราชบุตรของ พญาแสนซ้าย เจ้าหลวงเมืองแพร่ได้ถูกจับเป็นเชลยศึกที่กรุงอังวะ ของพม่า ต่อมาพม่าได้ส่งตัวมาไว้ที่ เชียงแสน พญาเมืองไจยจึงร่วมมือกับพญายอง และกองทัพเชียงใหม่ ต่อสู้กับพม่าในเชียงแสนได้รับชัยชนะ ทางครัวเรือนกลุ่มไทลื้อ ชาวเชียงแสนที่มีความศรัทธาในตัวพญาเมืองไจยจึงได้อพยพติดตามมา ตั้งรกรากที่เมืองแพร่ และตั้งหมู่บ้านและบูรณปฏิสังขรณ์วัดร้างขึ้น และตั้งชื่อว่า วัดพระหลวง ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านพระหลวง

พระธาตุเนิ้ง องค์พระเจดีย์ก่อด้วยอิฐ เป็นเจดีย์แบบทรงปราสาทยอด สถาปัตยกรรมแบบล้านนา องค์เจดีย์เอียง ซึ่งภาษาพื้นเมือง เรียกว่า “เนิ้ง” หรือ “พระธาตุเนิ้ง” สูงประมาณ 12 วา ฐานกว้าง 6 วา 3 ศอก มีพระพุทธรูป ทั้ง 4 ด้าน ลักษณะประทับยืนปางต่าง ๆ ด้านทิศเหนือและทิศใต้ ปางประทานอภัย / ปางห้ามญาติ ด้านทิศตะวันออก ปางประทับยืน และทิศตะวันตก ปางห้ามแก่นจันทร์ วัดพระหลวงมีโบราณสถาน ที่มีความสำคัญหลายแห่ง เช่น เจดีย์วัดพระหลวง หรือ พระธาตุเนิ้ง หอไตร หอระฆัง และบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

ร่วมแสดงความคิดเห็น