อนุกรรมการตรวจสอบ อ.ค.ต.ป. ลงพื้นที่ จ.ลำปาง ตรวจติดตามงานการพัฒนาการท่องเที่ยว

คณะอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ กลุ่มกระทรวง คณะที่ 3 ร่วมลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงานขับเคลื่อนภารกิจ โครงการตามนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเมืองรองในจังหวัดลำปาง รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานอนุกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (อ.ค.ต.ป.) กลุ่มกระทรวง คณะที่ 3 พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการ และเจ้าหน้าที่กลุ่มคณะทำงาน ร่วมเดินทางลงพื้นที่จังหวัดลำปาง เพื่อตรวจติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลสัมฤทธิ์ การดำเนินงานขับเคลื่อนภารกิจด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่จังหวัด

โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และนายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำปาง ร่วมเป็นตัวแทนในนามหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ นำคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับพร้อมกับร่วมกันนำเสนอข้อมูลรายละเอียดภาพรวม เกี่ยวกับแผนงานโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวด้านต่าง ๆ ที่ได้มีการดำเนินการในเขตพื้นที่ให้ทางคณะอนุกรรมการฯ ได้รับทราบ

ทั้งนี้ สำหรับการตรวจติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลดังกล่าว เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) ที่หมอบหมายให้คณะกรรมการ (ค.ต.ป.) และอนุกรรมการฯ (อ.ค.ต.ป.) ได้มีการลงพื้นที่ทำการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานในระดับชาติ ทั้งมีการติดตามตรวจสอบภารกิจ หรือนโยบายที่สำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ภายใต้แผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติในลักษณะการป้องกันและประเมินความเสี่ยง เพื่อจะได้นำข้อบกพร่องที่ตรวจสอบพบ รายงานแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาดหรือมีผลกระทบในวงกว้าง รวมทั้งเพื่อให้การลงทุนในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ของรัฐเกิดความคุ้มค่า

โดยการลงพื้นที่จังหวัดลำปางครั้งนี้ ทางอนุกรรมการฯ (อ.ค.ต.ป.) ได้เน้นติดตามตรวจสอบและประเมินผลในประเด็น “การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ของจังหวัด ซึ่งทางคณะฯ ได้ให้ความสนใจในเรื่องของสถานการณ์การท่องเที่ยวภายในพื้นที่ ทั้งเรื่องของจำนวนลักษณะของแหล่งท่องเที่ยว , การพัฒนาสถานที่โดยการอาศัยการมีส่วนร่วมบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานทุกภาคส่วน , การพัฒนางานบริการ สินค้า และการอำนวยความสะดวก รวมไปถึงเรื่องความปลอดภัยด้านต่างๆ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยว ตลอดจนให้ความสนใจในเรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ที่เกิดขึ้น

ซึ่งจากการรายงานพบว่า จังหวัดลำปางเป็นพื้นที่เมืองรองที่มีศักยภาพ มีแหล่งท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่มากมายทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ศาสนสถาน และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและหัตถกรรม โดยการพัฒนาพื้นที่ได้มุ่งเน้นสร้างเศรษฐกิจในเชิงสร้างสรรค์ สร้างแบนด์อัตลักษณ์ อนุรักษ์รักษาสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มจากทุนทางวัฒนธรรมและทุนสังคมที่มีอยู่ เน้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพจากแหล่งอาชีพ เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์และแปรรูป รวมไปถึงเน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเสน่ห์ทางการท่องเที่ยว สำหรับในส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ของจังหวัดลำปางยังอยู่ในลักษณะทรงตัว มีความแตกต่างจากปีที่ผ่านมาเพียงเล็กน้อย โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมประมาณ 1-2 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท ด้านความปลอดภัยและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางจังหวัดลำปาง ได้มีการพัฒนางานบริการภายใต้รูปแบบเมืองอารยสถาปัตย์ เพื่ออำนวยความสะดวกสาธารณะแก่กลุ่มคนทุกเภททุกวัย รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีความอ่อนแอทางด้านร่างกายด้วย

โดยโอกาสนี้คณะอนุกรรมการฯ (อ.ค.ต.ป.) ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานพัฒนาแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดลำปาง ทำการเยี่ยมพบปะกับผู้ประกอบการรถม้า ณ จุดบริการสถานีจอดรถม้า ตำบลหัวเวียง อำเภอเมืองลำปาง ซึ่งพบว่าในจุดบริการดังกล่าวได้มีการพัฒนาพื้นที่ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสะอาดสวยงามเพื่อเป็นจุดแวะถ่ายรูปของนักท่องเที่ยว รวมทั้งได้มีการพัฒนางานบริการปรับเปลี่ยนรถม้าให้มีการคิดค่าบริการเป็นแบบมิเตอร์ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงรถม้าให้มีความปลอดภัยทำการติดตั้งแสงสว่างรอบตัวรถ เพื่อให้รถม้าสามารถวิ่งให้บริการนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาค่ำคืนได้ พร้อมกันนี้คณะอนุกรรมการฯ (อ.ค.ต.ป.) ยังได้ร่วมกันเข้าเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวเซรามิคครบวงจรของจังหวัดลำปาง ณ ที่พิพิธภัณฑ์เซรามิคธนบดี ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง ทั้งนี้เพื่อจะร่วมพบปะกับผู้ประกอบการ เพื่อขอรับทราบข้อมูลปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมถึงประเด็นเรื่องต่างๆ ที่ทางผู้ประกอบการต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนและให้การช่วยเหลือ โดยข้อมูลที่ได้รับทางคณะอนุกรรมการฯ (อ.ค.ต.ป.) จะได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบายให้ฝ่ายบริหารได้จัดวางแนวทางในการแก้ไขและมาตรการความช่วยเหลือลงสู่พื้นที่ในภาพรวมต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น