สำนักวิทยบริการฯ จัดโครงการสัปดาห์ห้องสมุด และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี ในยุคดิจิตอล

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 รศ.ศีลศิริ สง่าจิตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นประธานเปิดงาน “สัปดาห์ห้องสมุดและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิตอล” ณ ห้องสมุด ชั้น 1 อาคาร สำนักวิทยบริการฯ มทร.ล้านนา โดยมี ดร.ประเสริฐ ลือโขง ผู้อำนวยการ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวรายงาน

งานสัปดาห์ห้องสมุด และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิตอล จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการห้องสมุด มีส่วนร่วมในการคัดเลือก และเสนอหนังสือให้ตรงกับความต้องการของคณะและสาขาวิชา ภายในงานได้จัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ ประกอบด้วย

– การออกร้านจำหน่ายหนังสือตำราภาษาไทย และต่างประเทศ ที่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอน
– การออกร้านจำหน่ายหนังสือทั่วไป ทั้งประเภทสารคดี และบันเทิง
– การบรรยายพิเศษ หัวข้อ digital disruption/people move และ หัวข้อ 2020 business change world โดยวิทยากรจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และการแข่งขัน PUBG
– กิจกรรม DIY ทำกระเป๋าผ้าลดโลกร้อน
– กิจกรรม ROV Battle@RMUTL เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษารู้จักการทำงานเป็นทีม การวางแผนการประสานงานระหว่างเพื่อนร่วมทีม ฝึกภาวะการเป็นผู้นำ การคาดคะเนและการคำนวณ ผ่านการเล่นเกม
– กิจกรรมประกวดภาพถ่าย กิจกรรมตอบคำถามชิงรางวัล กิจกรรมแฟนพันธุ์แท้สำนักวิทยบริการฯ 2019, แฟนพันธุ์แท้ห้องสมุด 2019

สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัย ในการเป็นกลไกลในการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์ในการสร้างบัณฑิต และบุคลากรของ มทร.ล้านนา ให้มีทักษะที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 ด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการกระบวนการเรียนการสอน การบริหารจัดการสำนักงานแบบธรรมาภิบาล ให้มีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

รศ.ศีลศิริ สง่าจิตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีฯ กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างก้าวกระโดด จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่สนับสนุนการให้บริการ จะต้องมีการรับมือในการเปลี่ยนแปลงที่มีอิทธิพลในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนไป ของยุคดิจิตอลของห้องสมุดกำลังเกิดขึ้น เพื่อรองรับวัฒนธรรมการอ่านของคนในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา บุคลากร อาจารย์ และทุกคนในสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป สู่ยุคอ่านทุกสิ่งผ่านเครื่องมือการสื่อสารอย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ที่บรรจุหนังสือที่เป็นไฟล์ดิจิตอลได้มากมาย

การดำรงอยู่ของห้องสมุดในยุคดิจิตอล ต้องตื่นตัวในการสร้างนวัตกรรมสำหรับทุก ๆ งานของห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดหา การแค็ตตาล็อก การสืบค้น และการบริการด้านต่าง ๆ ห้องสมุดจะกลายเป็นผู้ผลิตเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ รวมทั้งการนำสื่อดิจิตอล มาใช้แทนทรัพยากรแบบเก่าในห้องสมุด รวมถึงการสร้างสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ รวมถึงเครือข่ายจากทั่วโลก เพื่อให้บริการในการศึกษาและค้นคว้าความรู้ ในด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัยและด้านอื่น ๆ อย่างครบวงจร

ร่วมแสดงความคิดเห็น