ติงแผนปฏิรูปการศึกษา ดันควบรวม รร. เลิกขยายโอกาส 7 พันแห่ง อาชีพครูทำใจ

ผู้บริหารสถานศึกษา ในพื้นที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า การประกาศรับนักเรียนระดับประถมศึกษา ช่วง 28 ก.พ. 2563 – 4 มี.ค. 2563 นี้ และระดับชั้น ม.1 และ ม.4 ระหว่างวันที่ 21-25 มี.ค. 2563 นั้น เรื่องการวิ่งเต้น ขอฝากเด็ก และปัญหาค่าแป๊ะเจี๊ย คงไม่ต้องพูดถึง และกังวลกันแล้ว เนื่องจากค่านิยม ทัศนคติผู้ปกครองส่วนใหญ่มองว่า เรียนใกล้บ้าน สะดวกกว่า และจบจากที่ไหนไม่แตกต่างกัน เพราะสังคมเริ่มมีส่วนกำหนดเส้นทางชีวิต จะเห็นได้จาก สายอาชีวะ สายเทคนิค เริ่มมีผู้สนใจเรียนมากกว่าสายสามัญ สื่อตอกย้ำนำเสนอว่าจบปริญญาตรีตกงานเพียบ ทำให้ผู้ปกครองหวั่น ผู้เรียนกังวลอนาคต ส่วนประเด็นที่จะมีการยกเลิกโรงเรียนขยายโอกาส 7 พันแห่งทั่วประเทศ ขึ้นอยู่ที่ระดับนโยบายโดยส่วนตัวเห็นด้วย รวมถึงการควบรวม ยุบ ร.ร.ขนาดเล็ก มาเน้นพัฒนา บริหารจัดการให้ ร.ร.สู่มาตรฐานที่ตั้งเป้าตามแนวทางปฏิรูป แต่ละเขตพื้นที่ดีกว่า

ทั้งนี้ผลการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ซึ่งนายเอกชัย กี่สุขพันธ์ เป็นประธานสรุปว่า พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรม 2562 บังคับใช้ ซึ่ง พ.ร.บ.มีการกำหนดช่วงระยะเวลาจัดแผนบริการจัดการศึกษา ให้อิสระผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษากำหนดหลักสูตร สอดคล้องกับภูมิสังคม โดยผู้เรียน ชุมชน ครอบครัวได้ประโยชน์สูงสุดร่วมกัน เรียนเพื่อรู้ ไม่ใช่ท่องจำ ยึดตำรา จบมามีเพียงวุฒิการศึกษา ต่อไปจบแล้วต้องคิดเป็น สร้างอาชีพ เอาตัวรอดได้

นายเอกชัย กล่าวย้ำว่า การดำเนินการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ทุกภาคส่วนในชุมชนนั้นต้องมีส่วนร่วม ผู้บริหารสถานศึกษาต้องรู้จุดแข็ง จุดอ่อน ร.ร. จะพัฒนาด้านใดสู่ความเป็นเลิศทางการศึกษา และการออกประกาศนียบัตร ต่อไปจะให้ผู้บริหารรับผิดชอบ แทนที่จะต้องลงนามร่วมกับประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ทำให้เกิดความล่าช้า สำหรับการยกเลิก ร.ร.ขยายโอกาสกว่า 7 พันแห่ง ต้องยอมรับความจริงว่า ระดับ ม.1-3 บางโรงเรียนมีนักเรียนต่ำกว่า 30 คน ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่มีการรายงานยังพบว่า ร.ร.หลายๆแห่ง มีเด็กรวมกัน 3 ช่วงชั้นไม่ถึง 14 คนก็มาก บาง ร.ร.ไม่มีเลย หลาย ร.ร.ต้องให้ครูแบกรับภาระ การสอนเกือบทุกช่วงชั้น แต่การยกเลิก ร.ร.ขยายโอกาส ต้องประกาศล่วงหน้า 1 ปีการศึกษา ให้ผู้ปกครองเตรียมแผนจัดการเรียนของลูกหลานด้วย “ขณะนี้ได้มอบให้ สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)แต่ละเขตการศึกษาไปดูว่า มีที่ไหนจะยกเลิกบ้าง เพราะต้องรายงานมาที่ กพฐ. เพื่อพิจารณาตามขั้นตอน”

ในขณะที่กรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ภาคเหนือ (เชียงใหม่) กล่าวว่า ตามที่ ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และระดับนโยบายกระทรวงศึกษา รวมถึง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน รับทราบ อุปสรรคปัญหาที่ตัวแทนสมาคมการศึกษาเอกชน ผู้บริหาร ครู นักเรียน ร.ร.เอกชน ที่นำเสนอไป พร้อมชูแนวทางการศึกษา เอกชน อีกทางเลือกที่ดีกว่า

โดยบริบทสังคมต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า ร.ร.เอกชนที่ดี เด่น ดัง มีชื่อเสียงนั้น ค่าเทอม ค่าใช้จ่าย ย่อมแตกต่างจาก ร.ร.ทั่วไป แต่เมื่อสังคมมีการแข่งขันสูง การศึกษาต่อในคณะ สาขาวิชา อาจจะจำเป็นต้องฝ่าฟันเริ่มต้นจากตรงนั้น เพื่อสร้างโอกาสที่มากกว่า “ของดี ฟรี ถูก ไม่มีจริง ” เพราะ ร.ร.ที่สุดยอดนั้น คณะครูผู้สอน ย่อมมีผลงานเป็นที่ยอมรับในแวดวงผู้ปกครอง อ.พิมพ์ประภา ( นามสมมติ ) ครู ร.ร.เอกชนดังในเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันทัศนคติ ค่านิยมผู้ปกครอง เริ่มเปลี่ยนไปมาก รวมถึงผู้เรียน ที่มองว่า เรียนที่ไหน ๆ ทักษะ ความรู้ ความสามารถ ขึ้นอยู่กับผู้เรียน โดยผู้สอนเป็นเพียงผู้สร้างเสริม

ซึ่งยุคสมัยนี้ ช่องทางที่เด็กเก่ง ใฝ่เรียนรู้ จะเสาะแสวงหาผ่านติวเตอร์ ช่องทางออนไลน์สารพัดแหล่งความรู้ที่ต้องการศึกษา ดังนั้นกลุ่มครูผู้สอน แต่ละสาขาวิชา หากไม่มีโอกาสในระบบการศึกษา 2 แบบหลัก ๆ คือ ของ ร.ร.รัฐ และ ร.ร.เอกชนก็ต้องทำใจ เนื่องจากบัณฑิตสายครุศาสตร์ สายครูแต่ละปีจบออกมามาก ตำแหน่งครูใน ร.ร.รัฐ ต้องสอบแข่งขันสูง ส่วนหนึ่งเข้าไปอยู่ร.ร.เอกชน ที่มีภาวะตลาดการศึกษาเป็นปัจจัยกำหนดความอยู่รอด ถ้ามีเด็กเรียนมาก ก็อยู่ได้ แต่สภาพที่เห็นในวันนี้ ไม่เป็นเช่นนั้นด้านกลุ่มครู ในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา ในพื้นที่เชียงใหม่ ยอมรับว่า กดดันกับสภาพการเรียน การสอนที่มีแนวทาง นโยบาย ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา กลุ่มครูอัตราจ้าง พนักงานราชการ หรือแม้แต่ครูผู้ช่วย สถานภาพ รายได้ เงินประจำตำแหน่งจะแตกต่างกันสูง

นอกจากนั้น สภาพความเป็นอยู่กลุ่มครู ใน ร.ร.ถิ่นทุรกันดาร ครูดอย ครู ตชด. นำมาเปรียบเทียบกับกลุ่มครู ตามสถานศึกษาในเขตเมือง หากไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู คงเลือกไปประกอบอาชีพอื่นที่สุขสบายกว่าที่เห็น เมื่อสายงาน วงการครูมีความเหลื่อมล้ำสูง ก็ย่อมสะท้อนคุณภาพการศึกษาไทยได้เด่นชัด “จะมีกี่แผน กี่นโยบายตามยุคสมัย ถ้าไม่แก้ไขให้ตรงจุดเริ่มการศึกษาคือผู้สอนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี คงยากจะเห็นความเป็นเลิศทางการศึกษาของเด็กไทยใน ร.ร.ชายขอบ ร.ร.รอบนอกอำเภอ อาจจะมีช้างเผือก เด็กใฝ่เรียน ที่เก่ง ๆ ให้เห็นเป็นระยะไม่กี่คน และน้อยมาก ที่จบแล้วจะไปพัฒนาท้องถิ่น เลือกจะทำงานในที่ดี ๆ ได้เงินเดือนสูงเป็นส่วนใหญ่ “


ขอบคุณภาพ : กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ 360 )

ร่วมแสดงความคิดเห็น